รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ให้ประชาชนมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล สำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อเพิ่มศักยภาพการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน
วันที่ 26 เมษายน 2567 นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ระยะที่ 1 และ 2) จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี โดยมีนายวิจิตร สดสะอาด ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 9 พร้อมเจ้าหน้าที่ ร่วมลงพื้นที่ติดตามการใช้งาน และหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่
– บ้านเนินหิน ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง แหล่งน้ำจากประปาภูมิภาคเข้าไม่ถึง น้ำผิวดินไม่สะอาด ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สำรวจและจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ และเป็นโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ระยะที่ 2) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบกลาง ปี 2565 รูปแบบโครงการประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาลขนาด 8 นิ้ว จำนวน 5 บ่อ ถังเหล็กเก็บน้ำความจุ 750 ลูกบาศก์เมตร 2 ถัง หอถังเหล็กเก็บน้ำชนิดรักษาแรงดันขนาดความจุ 300 ลูกบาศก์เมตร ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดไม่น้อยกว่า 8,300 วัตต์ จำนวน 2 ระบบ ถังกรองสนิมเหล็ก จุดจ่ายน้ำถาวร และอาคารศูนย์เรียนรู้ด้านน้ำบาดาล พร้อมระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่ม ปัจจุบันโครงการฯ สามารถพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้มากถึง 525,600 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
– บ้านคลองชวดตาสี หมู่ที่ 7 ตำบลโพรงอากาศ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งที่หาน้ำจืดยาก น้ำผิวดินมีคุณภาพกร่อย เค็ม ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งน้ำผิวดินที่กร่อยเค็มอยู่แล้วก็มีปริมาณน้อยลง ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน ดังนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สำรวจและจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และเป็นโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ระยะที่ 1) ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบกลาง ปี 2564 รูปแบบโครงการประกอบด้วย บ่อน้ำบาดาลขนาด 6 นิ้ว จำนวน 5 บ่อ ถังเหล็กเก็บน้ำความจุ 200 ลูกบาศก์เมตร 2 ถัง หอถังเหล็กเก็บน้ำชนิดรักษาแรงดันขนาดความจุ 300 ลูกบาศก์เมตร ถังกรองสนิมเหล็ก จุดจ่ายน้ำถาวร และอาคารศูนย์เรียนรู้ด้านน้ำบาดาล พร้อมระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่ม และบ่อสังเกตการณ์ 1 บ่อ เพื่อติดตามคุณภาพและปริมาณน้ำบาดาล ปัจจุบันโครงการฯ สามารถพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้มากถึง 116,800 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
จากนั้นอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เดินทางไปตรวจติดตามการเจาะน้ำบาดาลโครงการศึกษาสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาลในพื้นที่หาน้ำยาก เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน และสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ (ระยะที่ 2) ที่ตำบลหนามแดง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ระหว่างการเจาะสำรวจที่ระดับความลึก 150 เมตร