“วราวุธ” ปาฐกถาพิเศษ ชี้ นักประชากรศาสตร์ บทบาทสำคัญ แก้ปัญหาวิกฤติประชากร พม. พร้อม ขับเคลื่อน พัฒนาความมั่นคง-คุณภาพชีวิตคนไทยทุกช่วงวัย

วันที่ 26 เมษายน 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ประเทศไทยจะรับมือกับวิกฤตทางประชากรได้อย่างไร” ในการประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ 2567 จัดโดย สมาคมนักประชากรไทย วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมคณะผู้บริหาร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องแมนดาริน ซี โรงแรมแมนดาริน (สามย่าน) กรุงเทพฯ

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังประสบกับสถานการณ์ต่างๆ มากมาย อาทิ ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผัน เช่น โควิด – 19 ภาวะความขัดแย้ง/สงคราม หรือความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น สำหรับประเทศไทยนั้น ปัญหาวิกฤตประชากรนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ เพราะคนเกิดน้อยแต่ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น ทำให้สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์แบบ และจะกลายเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอดในปี 2579 ขณะที่ คนวัยแรงงานจะดูแลผู้สูงอายุ ในอัตรา 3.2 : 1 ในปัจจุบัน และจะกลายเป็น 2:1 ใน 10 ปีข้างหน้า อีกทั้ง แนวโน้มผู้สูงอายุ อายุ 50-59 ปี ต้องดูแลผู้สูงอายุในวัย 80 ขึ้นไป มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การที่จะรับมือกับวิกฤตทางประชากร และก้าวข้ามประเด็นท้าทายในบริบทสังคมสูงวัยแบบสุดยอด รัฐต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือกรอบแนวคิดของประเทศ

นายวราวุธ กล่าวว่า นโยบายที่ต้องเร่งทำทันทีเพื่อสร้างความมั่นคงของครอบครัวไทยผ่านพ้นภัยวิกฤตประชากร คือ 1) เสริมพลังวัยทำงาน “ตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบคครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต” อาทิ การสร้างองค์ความรู้ เพิ่มพูนทักษะ และการพัฒนาศักยภาพ (Reskill /Upskill) เพื่อรองรับอาชีพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และการสร้างงานที่มีคุณค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน (Work from anywhere) 2) เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวาชน “เด็กน้อย แต่เปี่ยมด้วยคุณภาพ” อาทิ การดูแลสวัสดิการของเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 3 ปี) ซึ่งกระทรวง พม. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เตรียมลดเพดานอายุเด็กในสถานเลี้ยงดูเด็กเล็กจากเดิม 3 ขวบ ให้ลดลงมาเหลือ 3 เดือน เพื่อให้คุณแม่ที่ลาคลอดครบกำหนด 98 วัน สามารถนำลูกไปฝากเลี้ยงที่ศูนย์ได้ หรือการให้สถานที่ทำงานจัดพื้นที่สำหรับดูแลเด็กเล็กได้ ซึ่งกระทรวง พม. ได้ดำเนินการแล้ว

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า 3) สร้างพลังผู้สูงอายุ “ผ่อนหนักให้เป็นเบา พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส” อาทิ การปรับเปลี่ยนระบบการจ้างงานให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Working) เหมาะกับศักยภาพผู้สูงอายุ การขยายอายุการทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน การขยายอายุเกษียณราชการออกไป อีกทั้งต้องมีระบบบริบาลชุมชน ซึ่งวันนี้กระทรวง พม. ขับเคลื่อนโครงการบริบาลผู้สูงอายุ ซึ่งมีการอบรมผู้ที่จะมาเป็นนักบริบาลผู้สูงอายุ จำนวน 240 ชั่วโมง เมื่อผ่านการอบรมแล้ว สามารถมีรายได้จากค่าตอบแทน 4) เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการและกลุ่มด้อยโอกาส อาทิ การส่งเสริมการเข้าถึงทุกระบบการศึกษา การเพิ่มความรอบรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ การสนับสนุนทุนประกอบอาชีพ การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ยืดหยุ่น และการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 5) สร้างระบบนิเวศ (Eco – system) ที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว อาทิ การเชื่อมระบบสวัสดิการทั้งหมดเข้าด้วยกัน การสร้างโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยหรือบ้านสำหรับทุกคน ทุกช่วงวัย การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับสมาชิกทุกวัยในรูปแบบ Universal Design และการพลิกฟื้นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ด้วย Green Economy

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝ่าวิกฤตประชากรครั้งนี้ จำเป็นต้องอาศัยการกำหนดนโยบาย การติดตามประเมินนโยบาย บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ประชากรศาสตร์จึงมีความสำคัญมากในการช่วยผู้กำหนดนโยบายให้สามารถกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายของประเทศได้อย่างเหมาะสมและทันสถานการณ์ ทั้งนี้ ตนมีความตั้งใจที่จะมุ่งขับเคลื่อนการทำงานของกระทรวง พม. ให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อพัฒนาความมั่นคงและคุณภาพชีวิตคนไทยในทุกช่วงวัย ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาวิกฤตประชากรของประเทศอีกทางหนึ่ง ซึ่งพรุ่งนี้ ตนพร้อมคณะผู้แทนไทยจะเดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD57) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อนำเสนอ 5 ข้อเสนอเชิงนโยบายแก้วิกฤตประชากรและสังคมสูงวัยของประเทศไทย

#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #วิกฤตประชากร #การประชุมวิชาการประชากรศาสตร์แห่งชาติ2567 #พม#พม#พม