วันที่ 26 เมษายน 2567 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ Mr.Muhammad Rafiq Khan หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมเป็นประธานเปิด “การฝึกอบรมลูกเสือไซเบอร์เพื่อเป็นอาสาสมัครดิจิทัล” ภายใต้โครงการสนับสนุนและส่งเสริมลูกเสือไซเบอร์ปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ โดยมีนางสาวรัตนา จรูญศักดิ์สิทธิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มีผู้แทนจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้และกิจกรรมประจำฐาน โดยมีคณะครู และนักเรียน จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมการฝึกอบรม ณ True Digital Park กรุงเทพฯ
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการสนับสนุนและส่งเสริมลูกเสือไซเบอร์ปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยออนไลน์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย โดยเป็นการเชิญชวนให้ครู เด็กและเยาวชนร่วมเป็นเครือข่ายลูกเสือไซเบอร์ พร้อมทั้งร่วมเป็นอาสาสมัครดิจิทัล เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารบนโลกออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ สร้างกลุ่มสังคมออนไลน์ที่มีจิตสำนึกในจริยธรรม คุณธรรม เพื่อให้เป็นแบบอย่างแก่เครือข่ายทางสังคมในการส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม รวมทั้งร่วมกันช่วยสอดส่องดูแลภัยอันตรายและเฝ้าระวังข้อมูลข่าวสารที่เป็นภัยต่อเด็กและเยาวชน และสังคมโดยรวม ตลอดจนเพื่อให้เกิดช่องทางสำหรับติดต่อประสานงานเครือข่ายอาสาสมัครอย่างเป็นระบบและเป็นพลังหนุนสำคัญในการสร้างสรรค์สังคมออนไลน์ที่ดี โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาสภาพการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของเยาวชนในปัจจุบัน รวมถึงปัญหาและอุปสรรคของเยาวชนจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งของไทยและต่างประเทศ ทั้งยังเป็นแนวทางการส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ให้แก่เยาวชน เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้แก่เยาวชนในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ การมีวิจารณญาณและรู้เท่าทันสื่อและภัยออนไลน์ และเป็นการสร้างอาสาสมัครลูกเสือไซเบอร์ (Cyber Scout) ที่มีจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรมในการใช้ ICT อย่างสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน ร่วมปกป้องภัยออนไลน์ เป็นเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง เสมือนตัวแทนของสังคมไทยที่จะเป็นผู้เฝ้าระวังหรือสอดส่อง พฤติกรรมที่เป็นภัยต่อเด็กเยาวชน สังคม เศรษฐกิจ และความเจริญของประเทศผ่านทางระบบเทคโนโลยีดิจิทัลในยุคปัจจุบัน
“สิ่งสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับการสร้างลูกเสือไซเบอร์เพื่อเป็นอาสาสมัครดิจิทัล คือ การมีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้อง เหมาะสม และทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในระดับพื้นที่ที่จะช่วยเหลือและยกระดับชุมชนกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัล และความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนากลุ่มเป้าหมายสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัล เมื่อลูกเสือไซเบอร์ได้รับการพัฒนาเป็นอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) จะถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลในทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งมีความมุ่งหวังให้ อสด. ที่เป็นลูกเสือไซเบอร์ที่ผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้ จะสามารถไปขยายผลเพื่อสร้างเครือข่ายในชุมชนของตนเองต่อไปได้ โดย อสด. มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้อง เหมาะสม และทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ คุณสมบัติที่ดีของ อสด. คือ การเป็นบุคคลที่มีจิตสาธารณะ และมีความสนใจด้านดิจิทัล พร้อมให้ความช่วยเหลือและยกระดับชุมชน กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัล และความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เสมือนเป็นโซ่ข้อกลางในการเชื่อมโยงภาครัฐและภาคประชาชน รวมทั้งบทบาทในการเพิ่มทักษะด้านต่าง ๆ อาทิ การตระหนักรู้และป้องกันภัยออนไลน์ การแจ้งเหตุและเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
การฝึกอบรมในครั้งนี้ นอกจากผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติแล้ว ยังจะได้ทำความรู้จัก สร้างเครือข่ายกับครู นักเรียนจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ เพื่อการสร้างความร่วมมือช่วยเหลือและสนับสนุนในภารกิจลูกเสือไซเบอร์และอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ในโอกาสต่อไป” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม