ภาครัฐและเอกชนร่วมเสนอแนะกลยุทธ์สู่ การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน

อมาเดอุส ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (พาต้า) เน้นย้ำถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะและการยกระดับบริการในสนามบินของประเทศไทย

20 สิงหาคม 2562, กรุงเทพฯ – รายงานฉบับใหม่โดย อมาเดอุส บริษัทเทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยวระดับโลก ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (พาต้า) ระบุ ประเทศไทยจำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวให้มีความชาญฉลาดยิ่งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตด้านรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในทศวรรษหน้า

แม้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 6[1] ในปี 2561 แต่รายงาน ประเทศไทยสู่ปี 2030: จับกระแสอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเผยว่า ความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสารของสนามบินต่างๆ ในประเทศกำลังจะถึงเพดานสูงสุด ในขณะที่จุดหมายปลายทางยอดนิยมเริ่มได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากเกินไป (Overtourism) ซึ่งสองปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

รายงานได้นำเสนอ 4 ประเด็นหลักที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญในทศวรรษหน้า ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบิน การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานและเมือง การผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อยกระดับประสิทธิภาพเครือข่ายการคมนาคมในเขตเมือง และการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง ซึ่งล้วนต้องอาศัยการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะไปประยุกต์ใช้

  1. เพิ่มขีดความสามารถของสนามบินในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยการพัฒนาระบบการจัดการผู้โดยสาร

ในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนประเทศไทยถึง 38.27 ล้านคน[2] และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวจะพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม รายงาน “ประเทศไทยสู่ปี 2030: จับกระแสอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว”  เน้นย้ำว่า นอกเหนือจากการขยายอาคารสนามบินที่ได้วางแผนไว้แล้วนั้น ท่าอากาศยานของประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารภายในอาคารสนามบิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน ตลอดจนสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในทศวรรษหน้าอีกด้วย

 

ทั้งนี้แนะนำว่า ระบบการเช็คอินด้วยตนเองผ่านคีออส เครื่องดร็อปกระเป๋าอัตโนมัติ และการยืนยันตัวตนผ่านระบบไบโอเมตทริกซ์ เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายผู้โดยสาร และสำหรับสนามบินที่มีผู้โดยสารหนาแน่น ควรพิจารณาเปิดให้บริการเช็คอินและดร็อปสัมภาระนอกสนามบิน ซึ่งเป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีคลาวด์เข้ามาอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถเช็คอิน รวมถึงดร็อปกระเป๋า นอกอาคารผู้โดยสารได้อีกด้วย

  1. ขยายการเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานสู่เมือง เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ MICE

รายงานระบุเพิ่มเติมว่า 2 เซ็กเม็นต์ที่น่าจับตา ได้แก่ ธุรกิจ MICE (อุตสาหกรรมการจัดประชุมสัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติ และการจัดนิทรรศการ) และนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เกี่ยวข้องกัน คือกลุ่ม “bleisure” หรือผู้ที่เดินทางมาเพื่อธุรกิจแล้วอยู่ท่องเที่ยวพักผ่อนต่อ โดยตลาดทั้งสองนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย ในการสร้างรายได้ที่หลากหลายยิ่งขึ้นในทศวรรษหน้า

นอกเหนือไปจากการเชื่อมต่อระบบรางระหว่างสนามบินกับศูนย์ประชุมโดยตรง เพื่อผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรม MICE ในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง เช่น ขอนแก่น พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต และเชียงรายแล้ว รายงานยังแนะนำว่าในผู้ประกอบธุรกิจ MICE ในพื้นที่เหล่านี้ควรจัดตารางเวลารถไฟและเที่ยวบิน ให้สอดคล้องกับเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการประชุม เพื่อกระตุ้นการเติบโตของตลาด bleisure ด้วยเช่นกัน

นายไซมอน เอครอยด์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ อมาเดอุส เน้นย้ำว่า พื้นที่จุดหมายปลายทางของตลาด MICE ในประเทศไทย ต้องมีเทคโนโลยีที่จะสามารถสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ไร้รอยต่อ เพื่อให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ

“ในอนาคตอันใกล้นี้ จุดหมายปลายทางยอดนิยมในกลุ่ม MICE ในภูมิภาคจะหันมาแข่งขันกันที่ความสะดวกและความรวดเร็วในการเดินทาง ดังนั้น เมืองเหล่านี้จึงจำเป็นต้องลงทุนด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยมอบความสะดวกสบายให้นักท่องเที่ยว เช่น บริการเช็คอินและดร็อปกระเป๋า ณ สถานที่จัดประชุม ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีที่นำมาใช้ยังต้องมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะจุดหมายปลายทางในตลาด MICE ข้างต้นไม่ได้แข่งขันกับเพียงจังหวัดอื่นๆ ในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเมืองอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย” นายไซมอน กล่าว

  1. ผลักดันความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับระบบขนส่งในเขตเมือง

การสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) หรือโซลูชันที่เชื่อมต่อข้อมูลและเทคโนโลยีเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการเคลื่อนที่ของประชากรรอบๆ เมือง เป็นอีกประเด็นสำคัญที่ระบุไว้ในรายงาน “ประเทศไทยสู่ปี 2030: จับกระแสอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว” โดยโซลูชันนี้จะเข้ามาช่วยลดความแออัดและมลภาวะในเขตเมืองของประเทศไทย และทำให้เมืองน่าดึงดูดยิ่งขึ้นในทั้งสายตาของนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

“Smart Mobility ในประเทศไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่เทคโนโลยีนี้มีศักยภาพสูงมากในการปรับปรุงการเดินทางในเขตเมืองได้ โดยการใช้ข้อมูลการขนส่งในการจัดการระบบการจราจรแบบเรียลไทม์ เช่น สัญญาณไฟจราจร หรือจัดการบริการด้านเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) เช่น รถรับส่ง Grab และ Get เป็นเพียง 2 แนวทางเด่นๆ ในการประยุกต์ใช้โซลูชันนี้ แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่แข็งแกร่ง” นายไซมอน กล่าวเสริม

ซึ่งรายงานชี้ให้เห็นว่า ความท้าทายสำคัญประการหนึ่งคือ ภาครัฐของประเทศไทยยังไม่ทราบว่าจะร่วมมือกับบริษัทใด ในขณะที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดเล็ก ธุรกิจสตาร์ทอัพ และนักลงทุนต่างประเทศเองก็มักไม่ทราบว่าจะร่วมมือในลักษณะใด ดังนั้น ที่ปรึกษาฝ่ายที่สามอาจมีความสำคัญในการนำผู้เล่นจากทั้งสองภาคส่วนมาพบกัน

ดีป้ามองว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนถือเป็นหนึ่งอุปสรรคของประเทศไทย และแนะนำว่าจังหวัดควรจัดตั้ง “บริษัทพัฒนาเมือง” ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนในอนาคต เพื่อให้สามารถระดมทุนได้เพียงพอ และวางแนวทางการร่วมมือพันธมิตรที่เป็นมาตรฐานชัดเจน

ด้าน นายประชา อัศวธีระ รองประธานสำนักงานเขตภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าวว่า “ทุกวันนี้ เราได้สัมผัสกับสิ่งที่น่าจะเป็นไปได้สำหรับ Smart Mobility แค่เพียงผิวเผินเท่านั้น หลายๆ จังหวัดจำเป็นต้องพัฒนาตามโมเดล บริษัทพัฒนาเมือง ซึ่งนำร่องโดยจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำเป็นและวางแผนการดำเนินงานในระยะยาว”

  1. ลดผลกระทบด้านลบของการท่องเที่ยว เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ประเด็นสุดท้ายที่ระบุไว้ในรายงานคือ ความสำคัญของการวางมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยจากความเสี่ยงของปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง

อมาเดอุส ดีป้า และ พาต้า มองว่า หากประเทศไทยต้องการจะบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต คณะทำงานด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานท้องถิ่น และธุรกิจบริการ ควรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เพื่อการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ (Real-time Analysis) และการวางโมเดลด้วยเทคนิคการทำนายข้อมูล (Predictive Modeling) แต่เช่นเดียวกับ Smart Mobility การใช้เทคโนโลยีข้างต้นยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้นในประเทศไทย

 

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และดาวน์โหลดรายงาน ประเทศไทยสู่ปี 2030: จับกระแสอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฉบับเต็มได้ที่ https://amadeus.com/en/insights/research-report/thailand-towards-2030.

[1]  https://www.wttc.org/about/media-centre/press-releases/press-releases/2019/one-in-five-thai-baht-spent-is-in-travel-and-tourism-according-to-new-wttc-research/

[2] https://www.bangkokpost.com/business/tourism-and-transport/1619182/record-38-27m-tourists-in-2018-41m-expected-in-2019