เมื่อวันที่ 24 เม.ย.67 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข นายชื่นชอบ คงอุดม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
โดยสาระสำคัญในที่ประชุมได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบการขอขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2563 ออกไปอีก 2 ปี เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างการบังคับใช้ของกฎหมาย และรับทราบความก้าวหน้าการยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 ขณะเดียวกันได้มีการรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2566 การดำเนินงานกรณีการขนย้ายและจัดการกากอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนแคดเมียม จากจังหวัดตาก
ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์สารเคมีในปัจจุบันว่า เนื่องจากมีเหตุของการเผาไหม้และทำลายสารเคมีเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ สร้างความตื่นตระหนกและส่งผลกระทบต่อประาประชาชน ดังนั้นจึงขอให้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดการดูแลโรงงานที่เก็บกากของเสียอุตสาหกรรมและสารอันตรายต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย และขอให้ยกระดับมาตรการ การตรวจสอบสารเคมีของแต่ละโรงงานอย่างเข้มงวด เพื่อสแกนพื้นที่เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ พร้อมให้ประเมินมาตรการที่ดำเนินการอยู่ว่าได้ผลหรือไม่ ถ้าทำแล้วไม่สามารถป้องกันเหตุได้ อาจจะต้องปรับมาตรการและทำงานเชิงรุกมากขึ้น และได้เน้นย้ำอย่าปล่อยให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นซ้ำซากอีก ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ให้ติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดและเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้ให้ความเห็นชอบให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการประจำจังหวัด เพื่อร่วมตรวจสอบสารเคมี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นเลขานุการ และตัวแทนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมด้วย เพื่อรายงานสถานการณ์ทุก 15-20 วัน นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม 8 โครงการ คือ (1) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ (2) โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ ลำพูน๓ – สบเมย (3) โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 115 กิโลโวลต์ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ชุดที่ 1 ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ (4) โครงการงานขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้า บ้านผาผึ้ง จ.ตาก (5) โครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่อทำปูนขาว ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิลาไพบูลย์ (6) โครงการทางแยกบนทางหลวงหมายเลข 311 จุดตัดทางแยกศาลหลักเมือง ถึงจุดตัดทางแยกไกรสรราชสีห์ (รวมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา) จ.สิงห์บุรี (7) โครงการถนนสายแยก ทล.2 – บ.พระยืน อ.เมือง, พระยืน จ.ขอนแก่น และ (8) โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้เพียงพอและไม่เกิดความแออัดในการให้บริการ รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าและการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย โดยกำชับให้เจ้าของโครงการทั้ง 8 โครงการ ต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป