กระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกความเข้าใจกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เป็นครั้งที่ 4 เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในกลุ่มประชากรต่างด้าวในประเทศไทย เพิ่มการเข้าถึงบริการ ด้านสาธารณสุขสำหรับประชากรต่างด้าวอย่างเป็นมิตร ครอบคลุมการรักษา ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรคและอนามัยสิ่งแวดล้อม
วันที่ 24 เมษายน 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคุณเจรัลดีน อองซาร์ค (Ms. Géraldine Ansart) หัวหน้าภารกิจองค์การระหว่างประเทศเพื่อการ โยกย้ายถิ่นฐานประจำประเทศไทย (Chief of Mission for International Organization for Migration, Thailand) ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในกลุ่มประชากรต่างด้าวในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความมั่นใจในระบบและเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขสำหรับประชากรต่างด้าวอย่างเป็นมิตร โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจมาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2552 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 24 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568
นพ.โอภาส กล่าวว่า การให้บริการสาธารณสุขแก่ประชากรต่างด้าวภายใต้ความร่วมมือนี้ มุ่งเน้น 9 ด้าน คือ 1.สาธารณสุขมูลฐาน การตรวจและการประเมินสุขภาพ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น 2.การรักษาพยาบาลฉุกเฉินสำหรับผู้ย้ายถิ่นที่อยู่ในภาวะวิกฤติ 3.อนามัยเจริญพันธุ์และสุขภาวะทางเพศและสุขภาพเด็ก เช่น การวางแผนครอบครัว การมีบุตรอย่างปลอดภัย โภชนาการ การให้ภูมิคุ้มกันเด็ก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ 4.การให้บริการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ผ่านการรณรงค์ฉีดวัคซีน รวมถึงการให้ความรู้และความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ 5.สุขภาพจิตและการสนับสนุนด้านจิตสังคม 6.การป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคประจำถิ่น เช่น โรคไข้เลือดออก มาลาเรีย วัณโรค โรคท้องร่วง และโรคติดต่ออุบัติใหม่/อุบัติซ้ำ เช่น โควิด 19 ไข้หวัดนก 7.อนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลชุมชน และการจัดให้มีแหล่งน้ำที่สะอาดปลอดภัย 8.การเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น และ 9.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งวัณโรค และโควิด 19