เปลี่ยน ‘รอความตาย’ เป็น ‘อาจารย์ใหญ่ธรรมทาน’ สร้างการเรียนรู้ผ่านความ ‘แก่-เจ็บ-ตาย’ ฝึกจิต ‘ตายดีวิถีพุทธ’ มีสติในวาระสุดท้าย

สช. ผนึกภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรม “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” ต้นแบบ “การตายดีวิถีพุทธ” ใช้โมเดลวัดป่าโนนสะอาด จ.นครราชสีมา สร้างระบบการดูแลสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต นำความแก่-เจ็บ-ตาย-ประสบการณ์ชีวิต มาร่วมพูดคุยเพื่อสร้างคุณค่า-ความหมาย ประคองสติ-ไม่หลงตาย เพื่อนำไปสู่การตายดีตามเจตนา “มาตรา 12”

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงานขับเคลื่อนนวัตกรรม “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” ต้นแบบ “การตายดีวิถีพุทธ” และพิธีมอบเกียรติบัตร “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยโครงการพัฒนาต้นแบบการขับเคลื่อนสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตและการตายดีเชิงบูรณาการ วิถีทางพระพุทธศาสนา การแพทย์ และหลักกฎหมาย ในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดย ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด จ.นครราชสีมา

สำหรับ “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” ต้นแบบ “การตายดีวิถีพุทธ” นับเป็นนวัตกรรมที่มีการดำเนินงานโดย พระอาจารย์แสนปราชญ์ปัญญาคโม เจ้าอาวาสวัดป่าโนนสะอาด และประธานศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ในการขับเคลื่อนสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต โดยการเปลี่ยนผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่นอนรอความตายอย่างไร้ค่า มาเป็น “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” ที่สามารถทำประโยชน์ด้วยการนำความแก่ ความเจ็บป่วย ความตาย ประสบการณ์ชีวิต มาบอกเล่าเป็นธรรมทาน ส่งผลให้ชีวิตมีคุณค่า มีความหมาย และที่สำคัญคือมีสติไม่หลงตาย จิตจึงไม่เศร้าหมอง อันนำไปสู่การตายดีวิถีพุทธ

นายสุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นทางสำนักงานคณะกรรมสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายลงพื้นที่ศึกษาดูงานของศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2566 ก่อนที่จะยกให้ศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นต้นแบบให้กับวัดทั่วประเทศ สามารถนำรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ พร้อมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนนวัตกรรม “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนในงานดูแลผู้ป่วยผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งแบบระยะยาว (LTC) แบบประคับประคอง (PC) แบบระยะสุดท้ายของชีวิต (EOL) ต่อไป

“โครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสังคม ให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายระดับพื้นที่ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังเท่านั้น เพราะทุกคนไม่ว่าวัยไหนล้วนมีโอกาสในการเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิตได้ทั้งสิ้น โดยเราต้องการยกระดับให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม ให้มองว่าการพูดคุยมิติความตายไม่ใช่เรื่องอัปมงคล แต่เป็นเรื่องปกติที่สามารถพูดคุยกันได้ เพื่อให้เกิดการเตรียมพร้อม เตรียมตัว และนำสังคมไทยไปสู่สังคมอารยะที่ผู้คนต่างช่วยดูแลซึ่งกันและกัน” นายสุทธิพงษ์ ระบุ

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนมิติทางกฎหมาย ประชาชนทุกคนมีสิทธิตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ที่ระบุไว้ว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” ซึ่งหนังสือแสดงเจตนา หรือที่เรียกว่า Living Will นี้ทุกคนสามารถทำได้ทั้งในสถานพยาบาลที่ให้การรักษา หรือศูนย์ที่ให้การดูแลอย่างของวัดป่าโนนสะอาดแห่งนี้ได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ e-Living Will ที่จะเชื่อมโยงข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถทราบเจตนาของผู้ป่วยได้

นพ.สุผล ตติยนันทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ทุกคนสามารถสมัครเป็น “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” ได้ ซึ่งจะถือเป็นการทำคุณประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ สังคมประเทศชาติ ตลอดจนพระพุทธศาสนา โดยที่ไม่ต้องรอให้เสียชีวิตอย่างอาจารย์ใหญ่ทางการแพทย์ เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคน แม้วันนี้บางคนอาจมองว่ายังไม่ถึงเวลา แต่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือคนที่เรารัก ล้วนมีสิทธิเดินมาถึงช่วงเวลานี้ร่วมกันทั้งสิ้น

นพ.สุผล กล่าวว่า เรื่องของสภาวะทางจิตถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับคำพิพากษาจากระบบการแพทย์ที่ก้าวหน้า เมื่อถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่รักษาไม่ได้และสุดท้ายจะต้องรอวันตาย หลายคนอาจดำดิ่ง ซึมเศร้า จิตตกไปในทันที จากที่เคยใช้ชีวิตได้ปกติ กลับอ่อนแอลง ซึ่งในวันที่รับทราบข่าวร้ายแล้วใครจะรับมือและผ่านห้วงเวลานี้ไปได้ดีกว่ากัน ย่อมขึ้นกับต้นทุนของวิธีคิดที่มีมาแต่เดิม ดังนั้นโครงการฯ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงจะเป็นการสร้างการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

“เมื่อหมอวินิจฉัยว่าป่วยระยะท้าย มันไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะต้องนอนติดเตียงไปทันที มันจะไปถึงระยะนั้นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยอ่อนแอลง ทว่าคนส่วนใหญ่เมื่อถูกพิพากษาแล้วว่าต้องรอวันตาย แม้ก่อนนั้นจะยังแข็งแรงทำอะไรได้ตามปกติ กลับเดินหน้าเข้าสู่โหมดเหล่านี้ทันที ฉะนั้นเรื่องแบบนี้เราไม่รู้ว่าจะไปโดนที่ใคร แต่หลักการของโลกใบนี้คือสุดท้ายทุกคนต้องเจอกับความตายแน่นอน จุดที่ยากที่สุดคือวิธีคิดเมื่อถึงจุดนั้น จะมีสักกี่คนที่ยังสามารถมีจิตประภัสสร จิตยังลอยสูงได้โดยที่ไม่จิตตก ในวันที่เจอข่าวร้ายแล้วยังสามารถไปปลอบประโลมคนอื่นได้ ซึ่งโครงการนี้กำลังจะพลิกให้เกิดคนที่มีวิธีคิดแบบนี้มากขึ้น” นพ.สุผล ระบุ

ด้าน น.ส.แสงดาว อารีย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมา (พมจ.นครราชสีมา) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่ทาง พมจ. ได้มีการทำงานร่วมกับวัดป่าโนนสะอาด เนื่องจากเกิดกรณีที่ในหลายๆ เคสเมื่อมีผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นจะต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลแล้ว กลับไม่สามารถนำตัวเข้าไปดูแลในสถานสงเคราะห์ของรัฐบาลได้ เนื่องจากจำนวนที่ล้นทำให้ต้องต่อคิวเพื่อรอเข้ารับการดูแล แต่เมื่อได้มาพบกับทางวัดป่าโนนสะอาดที่มีการช่วยเหลือดูแลคนไร้ที่พึ่ง จึงได้มีการประสานไปขอความช่วยเหลือจากพระอาจารย์แล้วในหลายเคส

“เราเองอยากให้มีศูนย์ดูแลในลักษณะนี้เยอะๆ เพราะเป็นกลไกที่ดีมากในการช่วยเหลือดูแลกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจากข้อมูลของ TPMAP ใน จ.นครราชสีมา มีกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือถึงกว่า 1.9 แสนคน ไม่เฉพาะผู้สูงอายุ แต่ยังรวมถึงเด็กและคนพิการ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องรอคิวเพื่อเข้าสู่สถานสงเคราะห์ ที่ปัจจุบันให้การดูแลจนล้นในทุกกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นการขยายผลให้มีศูนย์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในชุมชนมากขึ้น ก็จะเข้ามามีส่วนช่วยได้มาก” น.ส.แสงดาว ระบุ

น.ส.แสงดาว กล่าวว่า ยังถือเป็นความโชคดีของพื้นที่นี้ ที่แม้จะมีศูนย์ดูแลของวัดป่าโนนสะอาดแห่งเดียว แต่ก็สามารถช่วยดูแลกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ได้มากขึ้น ซึ่งทาง พมจ. พร้อมที่จะสนับสนุนให้มีการขยายผล “อาจารย์ใหญ่ให้ธรรมทาน” ในการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนทาง พมจ. ก็จะนำข้อมูลองค์ความรู้ไปถ่ายทอดต่อ เช่น อาจต่อยอดเป็นหลักสูตรหนึ่งในการอบรมภาคีเครือข่ายอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) รวมถึงกลุ่มผู้ช่วยคนพิการ (PA) เพื่อไปดูแลกลุ่มเปราะบาง ผู้ป่วยระยะท้าย หรือกลุ่มคนพิการ เป็นต้น