กรมวิทย์ จับมือ บริษัท ดร.ซีบีดี ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต่อยอดงานวิจัยสู่ท้องตลาดภายใต้แบรนด์คนไทย เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค เพิ่มมูลค่าสมุนไพร สร้างเศรษฐกิจประเทศ

วันที่ 23 เมษายน 2567 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคแคนนาบิไดออลและออกซีเรสเวอราทรอล เพื่อบำรุงหนังศีรษะและเส้นผม ระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับ บริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด โดยมี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายพรชัย ปัทมินทร กรรมการบริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือดังกล่าว และมีคณะผู้บริหารทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย จ.นนทบุรี

นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สถาบันวิจัยสมุนไพร ได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบจากสารสกัดกัญชา และมะหาด ผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานสากลขึ้น โดยศึกษาวิธีการเตรียมสารสกัดจนได้สารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) และออกซีเรสเวอราทรอล (Oxyresveratrol) ที่มีความบริสุทธิ์สูง นำมาพัฒนาสูตรตำรับเป็นผลิตภัณฑ์แฮร์โทนิคแคนนาบิไดออลและออกซีเรสเวอราทรอล ที่มีประสิทธิภาพช่วยบำรุงหนังศีรษะ ลดอาการผมขาดหลุดร่วง ผมแห้งเสีย หนังศีรษะแห้งหรือหนังศีรษะมัน และช่วยปรับสมดุลให้หนังศีรษะ เสริมสร้างรากผมให้แข็งแรงขึ้น ฟื้นบำรุงเส้นผม และหนังศีรษะให้มีสุขภาพดี ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ได้ผ่านการประเมินด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ในอาสาสมัครแล้ว โดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อหนังศีรษะ มีคุณภาพและประสิทธิภาพเทียบเท่ากับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่สนใจในผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งช่วยให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรไทยที่ผ่านระบบการวิจัยสมัยใหม่ตามมาตรฐานสากล

“ปัจจุบันองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีการสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนา มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว  ดังนั้น เพื่อให้มีการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีให้มีความคล่องตัว สามารถสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมีความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าว แก่บริษัท ดร.ซีบีดี จำกัด ในครั้งนี้ เพื่อจะได้นำเทคโนโลยีการผลิตที่ได้รับการถ่ายทอดไปผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เป็นการนำผลงานวิจัยมาต่อยอดเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้เกิดความภาคภูมิใจในผลิตภัณฑ์ของไทย เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกสำหรับผู้บริโภค และสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์นี้ได้มากยิ่งขึ้นเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ถือเป็นก้าวที่สำคัญของสมุนไพรไทย ซึ่งคาดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะสามารถออกมาจำหน่ายในท้องตลาดได้เร็วๆ นี้” นายแพทย์ยงยศ กล่าวทิ้งท้าย