สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยกลุ่มงานพัฒนาและขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ร่วมกับเครือข่ายวิชาการ ภาคเหนือตอนล่าง ได้ดำเนินการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ประเด็น “การจัดการขยะชุมชน” ในพื้นที่เทศบาลตำบลปลักแรด ภายใต้โครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ สนับสนุนโดย สวรส.
การประชุมนำเสนอผลเพื่อผลักดันไปยังหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่จัดการปัญหาขยะของชุมชน โดยในวันนี้ได้รับเกียรติจากนางสาวสนิชา เพชรแก้ว นายกเทศมนตรีตำบลปลักแรด กล่าวเปิดการประชุม ร่วมเสวนา และรับฟังผลการประเมินการจัดการขยะในพื้นที่ เทศบาลตำบลเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการขยะ ซึ่งที่ผ่านมาเทศบาลได้ดำเนินการจัดการจัดการขยะประเภทต่างๆ อาทิ การจัดการขยะอินทรีย์โดยสนับสนุนอุปกรณ์ให้ชุมชนหมักเป็นแก๊ซชีวภาพใช้ภายในครัวเรือน กิจกรรมขยะแลกบุญ ที่ให้ประชาชนรวบรวมขยะมาขายและนำเงินไปซื้อของใช้ที่จำเป็นสำหรับกลุ่มคนเปราะบาง และกิจกรรมศึกษาดูงานการจัดการขยะในพื้นที่อื่น เพื่อลดปริมาณขยะภายในเทศบาลตำบลปลักแรด ซึ่งที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนจากการมีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เป็นการลดขยะของชุมชนและลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของเทศบาล
ด้าน ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า เวทีครั้งนี้ เป็นการดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการขยะในพื้นที่ ร่วมประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสร้างกติกาในการจัดการปัญหาร่วมกัน ซึ่ง HIA เป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งยังคำนึงถึงมิติสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพ โดยใช้ ข้อมูลมาวิเคราะห์ และพัฒนาให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะร่วมกัน ซึ่งผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่าในส่วนของกระบวนการมีส่วนร่วม ที่ชุมชนและท้องถิ่นต้องขับเคลื่อนการจัดการขยะร่วมกันนั้น นอกจากการกำหนดกติกาที่เห็นพ้องร่วมกันแล้ว ยังรวมไปถึงการวางแผนงานจัดการปัญหาขยะร่วมกันของชุมชน ซึ่งหากชุมชนทำได้ กระบวนการเหล่านี้ยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอื่นๆได้อีกด้วย
ด้านเครือข่ายวิชาการ นำโดย ผศ.ดร.วรวิทย์ อินทร์ชม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้มุมมองของด้านวิชาการจากการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ที่ทำให้ทราบปริมาณข้อมูล สถานการณ์ปัญหาขยะในพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การวางแนวทางการจัดการปัญหา ที่เน้นแก้ปัญหาขยะที่ต้นทาง สร้างความตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ลดขยะภายในครัวเรือน ตั้งแต่การอุปโภคบริโภคภายในบ้าน การใช้ถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติก ฯลฯ การแก้ไขปัญหาดังกล่าว เริ่มได้จากตัวเรา หากดำเนินการได้ก็สามารถขยายผลของชุมชนจัดการแก้ปัญหาเรื่องอื่นๆ ต่อไปได้ ผศ.ดร.วรวิทย์ กล่าว
ศึกษาข้อมูลเครื่องมือการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ https://www.nationalhealth.or.th/th/node/2793