ตามที่รัฐบาลมีนโยบายในการปรับเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐ จากผู้กำกับดูแลเป็นผู้สนับสนุนที่ช่วยขจัดข้อจำกัดทางกฎหมาย สร้างสภาพแวดล้อมทางกฎหมายของประเทศให้เหมาะสมต่อบริบทในการประกอบธุรกิจปัจจุบันนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงกฎระเบียบที่เกินความจำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งนี้ อย. ในฐานะหน่วยงานหลักได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งความคาดหวังที่มีต่อ อย. ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ การส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรม และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยตั้งแต่ พ.ย. 66 – ปัจจุบัน มีการรับฟังความคิดเห็นทั้งสิ้นมากกว่า 25 ครั้ง
นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะทำงานปรับปรุงกฎระเบียบที่เกินความจำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เปิดเผยว่า คณะทำงานฯ ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายของ อย. โดยที่ประชุมได้รับทราบปัญหาอุปสรรค (Pain Points) ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) กฎหมายไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ (2) กฎหมายสร้างภาระมากเกินความจำเป็น และ (3) การขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้ระยะเวลานาน
ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบในหลักการของแนวทางการปรับปรุงกฎหมายของ อย. สำหรับการแก้ไขปัญหาอุปสรรค 3 ประเด็นหลักข้างต้น รวมทั้ง Quick Win 2 เรื่อง ได้แก่ การปรับปรุงกฎระเบียบอำนวยความสะดวกการอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อยกเลิกขั้นตอนการรับรองความถูกต้องของเอกสารใบสำคัญสำหรับขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพจากต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ประเด็นการปรับปรุงกฎหมายที่ครบถ้วน ก่อนจัดทำเป็นแผนทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (2-3 ปี ตามวาระของรัฐบาล) เพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
ด้าน นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า อย.พร้อมสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้ สามารถดำเนินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งลดขั้นตอน ลดภาระและต้นทุนในการประกอบธุรกิจ อันเป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมกันนี้ อย. ยังคงให้ความสำคัญกับความปลอดภัย และคุณภาพของผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็งและยั่งยืน