นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์นักวิจัยไทย ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในงาน “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 – 21 เมษายน 2567 พร้อมกล่าวแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ และมอบรางวัล NRCT Special Award 2024 แก่ผลงานี่มีความโดดเด่น โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ผู้บริหารของกระทรวง อว. ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักประดิษฐ์ และนักวิจัยจาก 37 หน่วยงาน เข้าร่วมในพิธี ณ Palexpo นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า อว.ขอแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับรางวัลต่างๆจากเวทีการประกวดระดับนานาชาติในงาน “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ครั้งนี้ และยังเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เห็นความสำเร็จของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ที่ได้แสดงศักยภาพและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในเวทีระดับโลก กระทรวง อว. มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและพัฒนานักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย รวมถึงหน่วยงานที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมคุณภาพสูง ได้แสดงศักยภาพพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สู่เวทีระดับโลก พร้อมนี้ การผนึกกำลังอย่างแข็งแกร่งของคนไทยที่มีความสามารถสูง จะทำให้ขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมนี้ ขอชื่นชมและยินดีกับความสำเร็จของทุกท่านที่ได้รับมาในงานครั้งนี้ ทุกท่านจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไป และที่สำคัญ ขอขอบคุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ที่นำกลไกการส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติ มาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในบทบาทของ อว. ในเวทีระดับโลก ขอฝากให้ช่วยสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและร่วมกันพัฒนาประเทศของเราให้ยั่งยืนต่อไป
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวง อว. วช.มีเป้าหมายที่จะนำกลไกการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรด้านนวัตกรรมและการวิจัยของนานาประเทศ มาสนับสนุนให้งานวิจัยที่มีศักยภาพของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ได้รับการเผยแพร่ในเวทีระดับสากลและได้รับการยอมรับในมาตรฐานของงาน ในโอกาสนี้ นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยได้เข้าร่วมการประกวดและจัดแสดงผลงานในเวทีนานาชาติอันทรงเกียรติอย่าง “The 49th International Exhibition of Inventions Geneva” ซึ่งผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยได้สร้างความประทับใจและคว้ารางวัลเหรียญทอง รวมถึงรางวัลพิเศษอันทรงเกียรติมาครองได้สำเร็จ ดังนี้
– รางวัลเหรียญทองเกียรติยศ (Gold Medal with the Congratulations) จำนวน 4 รางวัล
พร้อมด้วย รางวัลเหรียญทอง (Gold Medal), รางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) และรางวัลเหรียญทองแดง (Bronze Medal) อีกจำนวน 89 รางวัล
นอกจากนี้ นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย ยังได้รับรางวัล Special Prizes on stage จากองค์กรนานาชาติ on stage ดังนี้
1) ผลงานเรื่อง “เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการขยะชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน”
โดย ดร.เรวดี อนุวัฒนา และคณะ แห่ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
จาก Hong Kong Delegation เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
2) ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ปรับองศาข้อมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษากระดูกข้อมือหลังการผ่าตัด”
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
จาก The Energy Educational Institute (N.I.E.C.I) สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
3) ผลงานเรื่อง “CRA Ambulance Boat : เรือฉุกเฉินต้นแบบเพื่อนำส่งผู้ป่วยในพื้นที่ทุรกันดารที่มีการประสานผ่านระบบ Telemedicine”
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล และคณะ แห่ง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
จาก The Polish Inventors and Rationalizers Association สาธารณรัฐโปแลนด์
4) ผลงานเรื่อง “โดรนอัจฉริยะ ”
โดย นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล และคณะ แห่ง สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ
จาก The Saudi Arabian Delegation ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
โดยผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ ได้แก่
1. ผลงานเรื่อง “PlasOne เทคโนโลยีพลาสมาเย็นจากอากาศเพื่อการฟื้นฟูเส้นผม” โดย ดร.พิพัฒน์ ปรมาพิจิตรวัฒน์ และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. ผลงานเรื่อง “กาแฟอะราบิกาจากกระบวนการผลิตใหม่ Facultative Anaerobic Yeasts (FAY) process” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขุมาภรณ์ กระจ่างสังข์ และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
3. ผลงานเรื่อง “ความยั่งยืนในการเก็บเกี่ยว: แนวทางที่เป็นนวัตกรรมสำหรับผลพลอยได้จากถั่วแมคคาเดเมียและโซลูชั่นด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์สะอาด” โดย รองศาสตารจารย์ ดร.สุภกร บุญยืน และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4. ผลงานเรื่อง “”วายู เบรทโทโลจี” นวัตกรรมเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดจากลมหายใจ” โดย ดร.เธียร์สิทธิ์ นาสัมพันธ์ แห่ง บริษัท เฮลท์ อินโนวิชั่น จำกัด
พร้อมรางวัล Special Prizes จากนานาประเทศ อาทิ โปแลนด์ สเปน โปรตุเกส สมาพันธรัฐสวิส เกาหลีใต้ มาเลเซีย โรมาเนีย ซาอุดิอาระเบีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน อิหร่านและอื่นๆ อีกร่วมกว่า 30 ผลงาน
ความสำเร็จของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ซึ่งผลงานที่ได้รับรางวัล ล้วนเป็นผลงานที่มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง วช. จะส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยต่อไป