กรมอนามัย ชวนคนไทยลดใช้พลาสติก ไม่เพิ่มขยะ ลดแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์นำโรค

กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันลดใช้พลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น ย้ำ หากกำจัดไม่ถูกต้องอาจก่อมลพิษต่อสุขภาพตามมา และยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์นำโรคด้วย

แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย  เปิดเผยว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต  ปิตุเตชะ) มีความห่วงใยปัญหาขยะล้นเมืองก่อให้เกิดวิกฤตสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล โดยในปี 2561 มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้น จำนวน 27.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณร้อยละ 1.64 ซึ่งถูกคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ 34  กำจัดอย่างถูกต้อง ร้อยละ 39  และกำจัดไม่ถูกต้อง ร้อยละ 27 รวมถึงปัญหาขยะล้นแหล่งท่องเที่ยวจากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีขยะตกค้าง 45,406 กิโลกรัม รองลงมาได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ 17,556 กิโลกรัม อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร 14,905 กิโลกรัม อุทยานแห่งชาติผาแต้ม 11,864 กิโลกรัม และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 10,369 กิโลกรัม ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์นำโรค และการกองทิ้งหรือลักลอบทิ้งในพื้นที่รกร้างหรือลักลอบทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ รวมถึงการทิ้งขยะลงทะเลโดยตรง จึงส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล ปี 2561 ข้อมูลกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง พบว่า มีการปล่อยขยะลงสู่ทะเล   มากถึง 1 ล้านตันต่อปี จากการสำรวจพบขวดเครื่องดื่ม (แก้ว) ขวดเครื่องดื่ม (พลาสติก) ถุงก๊อปแก๊ป กล่องอาหาร (โฟม) ห่อ/ถุงอาหาร ฝาจุกขวดพลาสติก บุหรี่/ก้นกรองบุหรี่ หลอดดูดน้ำพลาสติก พบปริมาณขยะใน 10 อันดับแรก มากถึง 45,931 ชิ้น

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ขยะที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้ในอุทยาน ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติกเชือก ฝา และ    จุกขวด กระดาษ ใบปลิว ขวดแก้ว หลอดดูดน้ำ ถ้วย จาน ก้นกรองบุหรี่ เป็นต้น ก่อให้เกิดมลภาวะเป็นพิษต่อแหล่งท่องเที่ยว เช่น หาดทราย แนวปะการัง ซึ่งขยะบางประเภทหากถูกทิ้งในป่าหรือทิ้งลงในทะเล สามารถสะสมความเป็นพิษในสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เช่น โฟมบรรจุอาหาร เชือก แห อวน เมื่อสัตว์กินเข้าไปทำให้สัตว์ตาย หรือเคลื่อนไหวไม่ได้และตายในที่สุด  จึงขอความร่วมมือหน่วยงานระดับท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. 2535 หมวด 3     การจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ตามมาตรา 20 เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสะอาดและจัดระเบียบการเก็บขน และกำจัด  สิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย และกฎกระทรวงสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. 2560 ในข้อ 3 ห้ามผู้ใดถ่าย เท ทิ้ง หรือทำให้มีขึ้นในที่หรือทางสาธารณะซึ่งมูลฝอยทั่วไป นอกจากถ่ายเท ทิ้ง หรือกำจัด ณ สถานที่ หรือตามวิธีที่ราชการส่วนท้องถิ่นกำหนดหรือจัดให้ และต้องมีการคัดแยกมูลฝอยอย่างน้อย 3 ประเภท คือ มูลฝอยรีไซเคิล มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน และมูลฝอยทั่วไปหรือมูลฝอยที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นนำไปจัดการต่อไป โดยให้ราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อกำหนดท้องถิ่น หรือกำหนดอื่นใดที่จำเป็นเพื่อให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะซึ่งจะช่วยลดปัญหาขยะได้อีกทางหนึ่งด้วย

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อว่า เนื่องจากขยะที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์จำพวกหนู แมลงสาบ แมลงวัน ทำให้เกิดโรคติดต่อในคน เช่น โรคบิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค เมื่อขยะเหล่านี้ตกค้างสะสมเป็นเวลานาน มลพิษจะกระจายไปในดิน น้ำ และอากาศ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติให้เสื่อมโทรมลงได้ ทุกคนจึงต้องช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมและรณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันลดปริมาณขยะ โดยคัดแยกขยะก่อนทิ้งและทิ้งขยะลงในถังหรือภาชนะที่จัดไว้ เลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแทนกล่องโฟมและถุงพลาสติก และเมื่อนำสิ่งที่จะก่อให้เกิดขยะเข้าในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขวด กระป๋อง ควรเก็บคืนออกมาให้มากที่สุด นอกจากนี้ จากนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่ลดการใช้ถุงหิ้วพลาสติกใส่ยา จากการดำเนินงานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 จนถึง 31 มีนาคม 2562 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2561 สามารถลดปริมาณการสั่งซื้อถุงหิ้วพลาสติกได้ถึงร้อยละ 87 หรือประมาณ 344,043 กิโลกรัม ช่วยประหยัดงบในการซื้อถุงหิ้วพลาสติก ได้กว่า 24 ล้านบาท ซึ่งผู้รับบริการพึงพอใจ ร่วมลดขยะพลาสติกและไม่คิดว่าเป็นการเพิ่มภาระ

“ทั้งนี้ ในปี 2561 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ทุกกระทรวงดำเนินงานตามมาตรการลดคัดแยกขยะภายในหน่วยงานภาครัฐ โดยกำหนดเป้าหมาย 5 เรื่อง ได้แก่ 1) ข้าราชการ 2.53 ล้านคนทั่วประเทศ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดและคัดแยกขยะ 2) อาคารของหน่วยงานภาครัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ ดำเนินกิจกรรมการลดและคัดแยกขยะ 3) ขยะของหน่วยงานภาครัฐที่ต้องส่งกำจัดลดลงอย่างน้อย ร้อยละ 5  4) หน่วยงานภาครัฐลดการทิ้งแก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และถุงพลาสติกหูหิ้วของหน่วยงาน ร้อยละ 10 และ 5) งดใช้โฟมบรรจุอาหารในหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ          เป็นแบบอย่างแก่ประชาชนและภาคเอกชนในการจัดการขยะและลดปริมาณขยะ สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการ  ขยะมูลฝอยของประเทศเนื่องจากพลาสติกเป็นวัสดุที่ไม่สามารถย่อยสลายด้วยตัวเองเป็นสารสังเคราะห์ โดยเฉพาะถุงพลาสติกเป็นขยะที่พบจำนวนมาก ซึ่งในภาพรวมพบว่าขยะพลาสติก ร้อยละ 50 ถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี และต้องใช้พื้นที่ฝังกลบ   สูงถึง 3 เท่า หากนำไปเผาจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สารก่อมะเร็ง รวมทั้งก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ