เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดี กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้การต้อนรับ Dr.Philipp Pischke ผู้อำนวยการโครงการ RAC NAMA และเจ้าหน้าที่ จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันประจำประเทศไทยและมาเลเซีย Deutsche Gesellschaft fur Internationale Zusammenarbeit (GIZ) เพื่อรายงานความคืบหน้าการคัดเลือกศูนย์อบรม และแผนการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการจัดการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัย ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กพร.ได้ร่วมมือกับองค์กร GIZ พัฒนาช่างเทคนิคให้มีความชำนาญในการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Job) จะเป็นไปตามเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และนโยบายกระทรวงแรงานภายใต้การนำของหม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน การทักษะฝีมือแรงงานในการบริการประชาชน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การหารือในครั้งนี้เป็นรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานตามกรอบความร่วมือดังกล่าว โดยร่วมฝึกอบรมครูฝึกช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นในประเทศไทยให้สามารถปฏิบัติงานกับสารทำความเย็นที่สามารถติดไฟได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นครูฝึกของกพร. ทั่วประเทศ เพื่อต่อยอดเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้แก่ช่างฝีมือ ช่างชุมชน ช่างในสถานประกอบกิจการ และประชาชนทั่วไป จะเริ่มฝึกอบรมครั้งที่ 1 ในช่วงระหว่างวันที่ 19-23 สิงหาคม 2562 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้พระนครเหนือ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร เป็นวิทยากรดำเนินการฝึกอบรมในครั้งนี้
“นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการใช้สารทำความเย็นที่ติดไฟได้อย่างปลอดภัยที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) หน่วยงานในสังกัดกพร. วางเป้าหมายดำเนินการจัดตั้งในสพร. 3 แห่ง ได้แก่ สพร. 10 ลำปาง สพร. 2 สุพรรณบุรี สพร. 17 ระยอง ในอนาคตจะขยายศูนย์ฯ ให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาค เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ให้กับช่างเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น นำไปสู่การยกระดับการปฏิบัติงานของช่างให้มีความปลอดภัยต่อสาธารณะ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานจะมีส่วนขับเคลื่อนให้ช่างฝีมือได้รับโอกาสที่ดีในการพัฒนาตนเอง พร้อมสร้างองค์ความรู้ ด้านความปลอดภัย มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอีกด้วย” นายสุชาติ กล่าว