วันที่ 19 สิงหาคม 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ โดยเริ่มจากตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำห้วยเสนงโครงการชลประทานสุรินทร์ อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ พร้อมทั้งปล่อยขบวนรถบรรทุกน้ำเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้าน การอุปโภคบริโภค ณ บริเวณที่ทำการโครงการชลประทานสุรินทร์ และประชุมการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ต่อจากนั้นลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก โครงการชลประทานบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวฝากไปยังพี่น้องประชาชนทุกคนในพื้นที่ภาคอีสานที่ในขณะนี้ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างมาก โดยทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้นิ่งนอนใจ กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งจัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรไม่ว่าจะเป็นน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคหรือเป็นน้ำเพื่อการเกษตร
นายสุวัฒน์ เปี่ยมปัจจัย อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสุรินทร์และพื้นที่ในเขตเมืองสุรินทร์ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างหนัก โดยเมื่อวันที่ 11 – 18 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 2 3 4 5 6 และ 11 ได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ เข้าพื้นที่ 8 คัน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง ซึ่งมีปริมาณการแจกจ่ายน้ำสะอาด จำนวน 1,201,000 ลิตร และมีแผนดำเนินการสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ในปี 2562 จำนวน 17 แห่ง ปี 2563 จำนวน 3 แห่ง ในส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์กรมทรัพยากรน้ำดำเนินการสูบน้ำจัดหาน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2561 ถึง วันที่ 13 สิงหาคม 2562 จำนวน 709,800 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณการแจกจ่ายน้ำ 120,000 ลิตร และมีแผนดำเนินการสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่บุรีรัมย์ ในปี 2562 จำนวน 6 แห่ง และปี 2563 จำนวน 5 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถบรรเทาภัยแล้งในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีการดำเนินการช่วยเหลือภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ เช่นกัน โดยได้เจาะบ่อบาดาลในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ประกอบด้วย บริเวณวัดหนองบัว 1 บ่อ บ้านพักโรงพยาบาลสุรินทร์ 3 บ่อ อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง 1 บ่อ สถานีผลิตน้ำประปาจังหวัดสุรินทร์ 2 บ่อ ในพื้นที่บุรีรัมย์ ประกอบด้วย โรงพยาบาลลำปลายมาศ 2 บ่อ และสถานีผลิตน้ำห้วยจระเข้มาก อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์