สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์แนะ โรคไข้อีดำอีแดง เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส ทางเดินหายใจ ทำให้แพร่กระจายได้ง่าย ประชาชนควรดูแลสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถหายได้เองทั้งยังมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นเมื่อมีอาการแสดงที่ผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ไข้อีดำอีแดงเป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ไม่สามารถหายได้เอง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้อาการแย่ลงจนส่งผลร้ายต่อร่างกาย โรคนี้เกิดจากเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ ซึ่งการแพร่กระจายของโรคจากคนสู่คน ผ่านทางละอองฝอยจากสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย ได้แก่ เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ทางการหายใจและการสัมผัสทางเยื่อบุต่างๆได้แก่ ตา จมูก ปาก รวมทั้งการสัมผัสใกล้ชิดผ่านทางสิ่งของเครื่องใช้ร่วมกันเช่น แก้วน้ำ ช้อน การดูแลสุขอนามัยในทุกๆคนอย่างสม่ำเสมอ เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโดยเฉพาะในการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น สถานศึกษาต่างๆ
แพทย์หญิงศิรินดา แจ่มจรรยา นายแพทย์เชี่ยวชาญ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการเริ่มจากมีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน หลังจากได้รับเชื้อ 12 ชั่วโมง ถึง 5 วัน ต่อมา 1-2 วัน จะเริ่มมีผื่นที่บริเวณคอ และกระจายไปตามตัว แขนขา ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ลักษณะผื่นจะเป็นผื่นนูนละเอียดคล้ายกระดาษทราย มีอาการคันเล็กน้อย มักพบผื่นจำนวนมากที่บริเวณข้อพับ และพบจุดเลือดออกขนาดเล็กในบริเวณนั้นได้ 3-4 วันต่อมาผื่นจะเริ่มจางและเริ่มลอก ซึ่งมักเริ่มที่หน้า ส่วนฝ่ามือ ฝ่าเท้าอาจเกิดการลอกหลังจากนั้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์ได้ในช่องปากจะพบการบวมแดงของต่อมทอนซิล อาจพบเยื่อสีขาว เทา หรือเหลืองปกคลุม ในช่วง 2 วันแรกลิ้นจะมีเยื่อขาวปกคลุม หลังจากนั้นเยื่อขาวจะลอกออกกลายเป็นลิ้นสีแดงและเห็นตุ่มลิ้นชัดเจน นอกจากนี้ยังพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หน้าแดง และรอบปากซีดได้บ่อย การรักษาที่สำคัญคือ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ penicillin หรือ erythromycinเป็นระยะเวลา 10 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ อาการไข้มักจะลดลงภายใน 12-24 ชั่วโมงหลังได้รับยาฆ่าเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบ ได้แก่ ฝีที่บริเวณรอบต่อมทอนซิล ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้รูมาติก และไตอักเสบ การวินิจฉัยโรคอาศัยอาการแสดงที่กล่าวมา และอาจร่วมกับการตรวจยืนยันเชื้อโดยการเพาะเชื้อจากลำคอหรือการตรวจเลือด การพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยควบคุมความรุนแรงของโรค