กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะ 5 จุดคลายง่วง สำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะ พร้อมชู 4 ยาสมุนไพรพกติดตัว เดินทางไกล ช่วงเทศกาลสงกรานต์

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำ 5 จุดคลายง่วง พร้อมทั้งช่วยบรรเทาอาการ ปวดเมื่อยคอ บ่า และ ไหล่ สำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะทางไกล ด้วยศาสตร์แผนจีน พร้อมชู 4 ยาสมุนไพร ได้แก่ ยาขิง ยาฟ้าทะลายโจร ยาหอมอินทจักร์ และ พิมเสนน้ำ พกติดตัว บรรเทาอาการที่ประชาชนมักจะป่วยบ่อยช่วงเดินทางไกล เทศกาลสงกรานต์

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจำนวนมากมักเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ทำให้สภาพการจราจร ในหลายพื้นที่ติดขัด มักจะใช้เวลาในการเดินทางมากกว่าช่วงปกติ โดยเฉพาะผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะเป็นเวลานาน ๆ มักเกิดอาการเมื่อยล้า มีอาการง่วงนอน สำหรับประชาชนที่ต้องเดินทางไกลมักเกิดปัญหาด้านสุขภาพระหว่างการเดินทาง เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ อาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการเมารถ เมาเรือ อาการท้องเสีย เป็นต้น

สำหรับ ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะแล้วมีอาการง่วงนอน หรือปวดเมื่อยช่วงคอ บ่า และ ไหล่ ขอแนะนำการกดจุดตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน 5 จุด คลายง่วง ดังนี้ จุดที่ 1 ยิ่นถาง ช่วยบรรเทาอาการมึนงงและไม่สดชื่น ตำแหน่ง : บริเวณกึ่งกลางระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง วิธีกดจุด : ใช้นิ้วชี้กดค้างไว้ประมาณ 1 นาที จุดที่ 2 สุ่ยโกวหรือเหรินจง ช่วยเรียกคืนสติ ทำให้ตื่นตัว ตำแหน่ง : บริเวณร่องใต้จมูกตรงจุดแบ่งระหว่าง 1/3 บนกับ 2/3 ล่าง วิธีกดจุด : ใช้นิ้วชี้กดหรือจิกค้างไว้ประมาณ 1 นาที จุดที่ 3 ท่ายหยาง ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ทำให้ตาสว่าง ตำแหน่ง : ตรงรอยบุ๋มบริเวณขมับ โดยห่างจากจุดกึ่งกลางแนวเส้นเชื่อมระหว่างหางคิ้วกับหางตาออกไป 2 – 3 เซนติเมตร วิธีกดจุด : ใช้นิ้วกดค้างไว้ประมาณ 1 นาที จุดที่ 4 บริเวณจุดเฟิงฉือ เพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณศีรษะ บรรเทาอาการปวดเมื่อยบริเวณท้ายทอย ทำให้ตาสว่าง ตำแหน่ง : บริเวณท้ายทอยใต้กระโหลกศีรษะทั้งสองข้าง วิธีกดจุด : ใช้นิ้วหัวแม่มือกดคลึงบริเวณท้ายทอยประมาณ 1 นาที และ จุดที่ 5 บริเวณจุดเจียนจิ่ง ช่วยบรรเทาอาการปวดตึงต้นคอบ่าไหล่ ตำแหน่ง : บริเวณบ่า วิธีกดจุด : ใช้นิ้วชี้ กลาง นาง และนิ้วก้อยของมือขวานวดตามแนวบ่าซ้าย จากนั้นทำสลับกัน ข้างละประมาณ 1 นาที

ในส่วน ยาสมุนไพรที่เหมาะจะพกติดตัวช่วงเดินทางไกล บรรเทาอาการที่มักจะเจ็บป่วยช่วงการเดินทาง ได้แก่ยาขิง เป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีสรรพคุณ ป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการเมารถ เมาเรือ บรรเทาอาการท้องอืด ขับลม แน่นจุกเสียด ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในระหว่างการเดินทางไกล ยาฟ้าทะลายโจร สรรพคุณ บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ (อุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน) มีข้อห้ามใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ และ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร และ ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น มีตุ่มหนองในลำคอ ยาหอมอินทจักร์ ใช้แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้ร่างกายสดชื่นตื่นตัว มีข้อห้ามใช้ใน หญิงตั้งครรภ์ และพิมเสนน้ำ มีส่วนประกอบหลัก ๆ คือ พิมเสน แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด บำรุงหัวใจ การบูร แก้เคล็ด ขัดยอก เกล็ดสะระแหน่หรือเมนทอลมีกลิ่นหอมเย็น สำหรับพิมเสนน้ำเมื่อสัมผัสผิวจะรู้สึกเย็น จึงควรระมัดระวังการระคายเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจและดวงตาหรือบริเวณผิวหนังอ่อน

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า การเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างปลอดภัย จะต้องมีการเตรียมร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ

หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพร ในการรักษาโรค สามารถติดต่อที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่ FACEBOOK กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.facebook.com/dtam.moph และ line @ DTAM