- กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นซึ่งได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 2.6% และ 3.0% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567
- Krungthai COMPASS คาด กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้สู่ระดับ 2.0% ต่อปี จากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยได้กระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการผลิต อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ปัจจัยกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวสูงกว่ากรอบเป้าหมายมีแนวโน้มผ่อนคลายลง
กนง. มีมติข้างมาก “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 และปี 2568
กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ในการประชุมครั้งที่ 2/2567 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
- เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นที่ 2.6% ในปี 2567 และ 3.0% ในปี 2568 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องแม้จะชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวสูง และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี สำหรับการส่งออกจะฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มต่ำลงหลังวิกฤตโควิด สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันศักยภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการผลิตที่เผิชญความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลงและภาวะสินค้าล้นตลาด
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.6% และ 1.3% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ โดยลดลงตามราคาอาหารสดบางกลุ่มเนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และราคากลุ่มพลังานที่ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ หากหักผลของมาตรการดังกล่าว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปตลอดช่วงที่ผ่านมายังคงเป็นบวก โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยเพิ่มขึ้นกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ภายในปลายปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.6% และ 0.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ
- ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือนขยายตัวชะลอลงจากการชำระคืนหนี้ ขณะที่ปริมาณสินเชื่อปล่อยใหม่ในภาพรวมยังขยายตัว อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อยเผชิญภาวะการเงินที่ตึงตัว เนื่องจากมีปัญหาเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงสินเชื่อ ประกอบกับความสามารถในการชำระหนี้ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน โดยอ่อนค่านำสกุลภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และปัจจัยด้านเศรษฐกิจการเงินในประเทศในช่วงที่ผ่านมา
- การดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ควรมีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (debt deleveraging) จะช่วยลดความเปราะบางของเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว อีกทั้งนโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อ
Implication:
- Krungthai COMPASS ประเมินว่าเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต จะเป็นปัจจัยกดดันให้ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้สู่ระดับ 2.0% ต่อปี โดย กนง. ระบุว่าเศรษฐกิจสามารถขยายตัวเร่งขึ้นที่ 2.6% และ 3.0% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2558-2562 ที่เคยเติบโตได้ที่ 3.4% ส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยที่ทำให้ภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าขยายตัวได้ต่ำลง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงและอาจขยายตัวได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่เคยเติบโต 3.4% สำหรับปัจจัยกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อที่อาจเร่งตัวสูงกว่ากรอบเป้าหมายมีแนวโน้มผ่อนคลายลง จึงประเมินว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพในอดีต สะท้อนจากมุมมองของคณะกรรมการ กนง. 2 ท่าน ในการประชุมครั้งล่าสุดที่เห็นควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง Krungthai COMPASS คาดว่า กนง. จะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจำนวน 2 ครั้งในปีนี้ (ครั้งละ 25bps) สู่ระดับ 2.0% ต่อปี