ดร.สุทธิพลทวีชัยการเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา The International Insurance Regulation and Supervision Seminar เรื่องแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในระดับสากลโดยร่วมกับสมาคมนายทะเบียนประกันภัย(National Association of Insurance Commissioners หรือ NAIC) ประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม2562 ณโรงแรม Renaissance กรุงเทพฯ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้เป็นผลจากการขับเคลื่อนเอ็มโอยูที่ คปภ.มีกับ NAIC ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเป็นการเติมเต็มองค์ความรู้ทางเทคนิคให้กับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจากประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเซียเกี่ยวกับพัฒนาการใหม่ๆ และวิธีการแก้ไขปัญหาด้านประกันภัยที่เกิดในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลจากมุมมองประสบการณ์ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยและภาคธุรกิจประกันภัยของประเทศสหรัฐอเมริกาอีกทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลประกันภัยในการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมยุคดิจิทัลซึ่งต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยควบคู่กับการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยรวมทั้งการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Big data, Artificial intelligence, Blockchain และ IoT เป็นต้น
สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยที่เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย NAIC ประเทศสหรัฐอเมริกาและหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของประเทศต่างๆ ในเอเซียได้แก่ บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน ภูฏาน ศรีลังกาไต้หวัน รวมทั้งผู้แทนจาก สำนักงาน คปภ.
ในการนี้ เลขาธิการคปภ. ได้ฉายมุมมองต่อที่ประชุมเกี่ยวกับทิศทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของไทยโดยกล่าวถึงการส่งเสริมให้มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีประกันภัยมาใช้และความสำเร็จของประเทศไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อยแบบใหม่ๆ อาทิ ประกันภัยลำไยฉบับแรกของโลกโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียมตรวจวัดความเสียหายจากดัชนีฝนแล้งประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และล่าสุดประกันภัยประมงฯลฯนอกจากนี้ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับ Commissioner จาก NAIC และผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทประกันภัยชั้นนำของโลกมาสะท้อนมุมมอง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากมุมมองของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และจากภาคธุรกิจประกันภัยที่มีมุมมองร่วมกันคือ การทำให้ประกันภัยมีความสะดวกง่ายต่อการเข้าใจและสามารถทำให้ผู้บริโภคทุกระดับเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งนวัตกรรมเทคโนโลยีและความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและศักยภาพของภาคธุรกิจประกันภัย นอกจากนี้หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยมีความจำเป็นที่จะต้องกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในเชิงป้องกัน เช่น การมีกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคกฎหมายการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถือกรมธรรม์ทั้งยังต้องให้ความสำคัญต่อการใช้กระบวนการต่างๆ เช่น การตรวจสอบและสืบสวนข้อเท็จจริงกระบวนการให้บริการการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนการยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยโดยการตรวจสอบในเชิงลึกและการวิเคราะห์ตลาดจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับประเด็นดังกล่าว
สำหรับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีประกันภัย (InsurTech) นั้น ปัจจุบันNAIC และบริษัทประกันภัยของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลลงทุนในเรื่องระบบเทคโนโลยีประกันภัย โดยให้ความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีในการกำกับดูแล เช่น นำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจสอบข้อมูลทางด้านช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัยอัตราเบี้ยประกันภัยการรับประกันภัยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทประกันภัย ซึ่งการใช้ Big Data และ Artificial intelligence เป็นสิ่งสำคัญในการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล โดย NAIC และบริษัทประกันภัยต่างๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการแชร์ข้อมูลทางด้านประกันภัยในแต่ละมลรัฐเพื่อช่วยในกระบวนการตรวจสอบรูปแบบธุรกิจประกันภัยที่มีความซับซ้อน รวมทั้งกรณีฉ้อฉลประกันภัยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและข้อมูลต่างๆ ของผู้เอาประกันภัย
“หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจะต้องมีกฎหมายที่ดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างสมดุลและเหมาะสม รวมทั้งจะต้องมีฐานข้อมูลทางด้านประกันภัยที่ดีและครบถ้วนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้เกิดความมั่นคงส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เหมาะสมเป็นธรรมและหน่วยงานกำกับดูแลเองก็จะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการจัดการกับช่องว่างสำหรับความเสี่ยงในการจัดการทางด้านประกันภัย และลดความเสี่ยงที่เกิดจากการฉ้อฉลทางด้านประกันภัยของบริษัทประกันภัย ทั้งนี้ ผมเชื่อมั่นว่าการประชุมสัมมนาครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. จะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านการกำกับธุรกิจประกันภัยที่สำคัญกับพันธมิตรระดับภูมิภาคอย่าง NAIC และอีกหลายประเทศซึ่งเป็นการต่อยอดและสร้างโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนความรู้ข้อคิดเห็นและประสบการณ์การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่ทันสมัยเพื่อนำมาต่อยอดและพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยทั้งระบบให้เกิดความแข็งแกร่งเป็นที่เชื่อมั่นในระดับมาตรฐานสากลต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ กลุ่มงานสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 http://www.facebook.com/PROIC2012