วันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการแก้ปัญหาวิกฤตล่ามภาษามือ จากการที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับทราบถึงปัญหานั้น ซึ่งที่จริงแล้วในประเทศไทยควรจะมีล่ามภาษามือถึง 40,000 คน ตามสัดส่วนที่ควรจะเป็น แต่มีเพียงแค่ 100 กว่าคนเท่านั้น
ทางกระทรวง พม. โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้เร่งดำเนินการในระยะสั้น และตั้งเป้าในปี 2567 จะเร่งผลิตล่ามภาษามือให้ได้ประมาณ 180 คน นอกจากนี้ จะมีการประสานงานกับวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับการใช้ภาษามือ และจะจัดทำโครงการหลักสูตรล่ามภาษามือ ซึ่งในส่วนของวิทยาลัยราชสุดานั้น จะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และจะผลิตล่ามภาษามือเป็นรุ่นๆ ออกมา นอกจากวิทยาลัยราชสุดาแล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่จะทำหลักสูตรภาษามือขึ้นมาเช่นกัน ดังนั้น ในระยะสั้น ปี 2567 คาดว่าจะมีล่ามภาษามือเพิ่มขึ้นประมาณ 200 – 300 คน จากเดิมที่มีจำนวน 100 กว่าคน และในระยะยาว จะเร่งประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มจำนวนล่ามภาษามือให้มากขึ้น ทั้งนี้ ถ้าท่านใดมีความประสงค์ต้องการใช้ล่ามภาษามือ ขอให้แจ้งได้ที่สำนักงาน พม. ทุกจังหวัดทั่วประเทศ หรือติดต่อมาที่สายด่วน 1300 หรือศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ของกระทรวง พม. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ขอให้แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 2 – 3 วัน เพราะว่าบางจังหวัดนั้นยังไม่มีล่ามภาษามือ ซึ่งเราจะต้องจัดหาล่ามจากภายนอกเข้าไป
#ช่วย24ชั่วโมง #พม24ชม #ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #พม #วิกฤตล่ามภาษามือ #คนพิการ