ปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของโลก ส่งผลกระทบต่อทั้งสัตว์น้ำและมนุษย์ เนื่องจากทะเลเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของทุกคน กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในน่านน้ำไทย ได้จัดตั้งโครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดติดทะเลจำนวน 23 จังหวัด และได้นำหลักโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model มาประยุกต์ใช้ผ่านการทำกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวประมง องค์กรชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาขยะทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า…ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมประมง ได้ให้ความสำคัญ กับการบริหารจัดการขยะ ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับประเทศที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือและให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการประกอบอาชีพการทำการประมง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยการนำแนวคิดไม่สร้างขยะในท้องทะเลและการเก็บขยะในท้องทะเลมาแปลงเป็นทุน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ปลูกจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดความรู้ถึงปัญหาที่มาของขยะในทะเลและวิธีจัดการกับขยะอย่างถูกต้องเพื่อเป็นการแก้ปัญหาขยะทะเลได้อย่างยั่งยืน
สอดคล้องกับนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้ความสำคัญในพัฒนาการประมงด้วยหลักโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model การใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ของไทย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการทำเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อร่วมกันนำขยะขึ้นมาจากทะเลและนำไปกำจัด สร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนอันจะทำให้ทะเลไทย เป็น “ทะเลสะอาด”
ซึ่ง กรมประมง ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยได้ร่วมกับประมงพาณิชย์ ดำเนินโครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยได้มอบหมายให้ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) ทั้ง 30 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานหลักในประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงที่ออกเรือ ลดการใช้ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ยาก ไม่เทเศษสิ่งของเหลือใช้ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ และของใช้ในเรือประมงลงสู่ทะเล รวมทั้งประเมินและบันทึกปริมาณขยะที่ชาวประมงเก็บคืนสู่ฝั่ง นอกจากนี้ ท่าเทียบเรือที่จดทะเบียนกับกรมประมง ได้มีส่วนร่วมกับโครงการฯโดยการจัดจุดรวบรวมและคัดแยกขยะจากทะเล ซึ่งปัจจุบัน มีเรือประมงลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนทั้งสิ้น 4,826 ลำ จากการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา มีการสรุปรายงานผลปริมาณขยะคืนฝั่งที่เก็บมาได้ ยอดรวมปัจจุบันทั้งหมด จำนวน 408,373 กิโลกรัม แบ่งเป็นขยะที่เก็บในเรือประมง จำนวน 317,725 กิโลกรัม ขยะจากทะเล 90,648 กิโลกรัม โดยประเภทขยะที่พบมากที่สุด ได้แก่ เศษอวน รองลงมาเป็นขวดพลาสติก ขวดแก้ว และขยะอื่นๆ โดยขยะที่รวบรวมได้นั้น จะมีการส่งต่อไปสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องต่อไป
โดยล่าสุด กรมประมง ร่วมกับสมาคมประมงบ้านแหลม ชาวประมงพาณิชย์จังหวัดเพชรบุรี และภาคเอกชนผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้มีการขยายผลนำขยะทะเลที่เก็บได้ เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยมีกรรมวิธีผลิตด้วยการหลอมแปรรูปขยะเป็นเส้นใยรีไซเคิลผสมกับเส้นใยอื่น จากนั้นนำไปถักทอขึ้นรูปใหม่เป็น “เสื้อ” มีคุณสมบัติที่นุ่ม สวมใส่สบาย ระบายอากาศได้ดีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) ได้ โดยเสื้อ 1 ตัวผลิตจากขยะขวดพลาสติกจำนวน 8.5 ขวด ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ถูกเก็บรวบรวมจากทะเล สอดรับแนวคิดในการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าสูงสุด เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ซึ่งสามารถลดขยะพลาสติก และยังสามารถลดโลกร้อนได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และยังช่วยผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขยายออกไปในวงกว้าง ด้วยแนวคิด “Extended Producer Responsibility (EPR) คือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตครอบคลุมตลอดห่วงโซ่วงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ผลิตไปจนถึงขั้นตอนหลังการบริโภค ที่ผู้ผลิตต้องเข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว
อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า…กรมประมงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต เพื่อฟื้นฟูแหล่งทำการประมงให้คงความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงสนับสนุนให้ชุมชนร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป