วันที่ 7 เมษายน 2567/ นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย รองโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองโฆษก สพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ได้มอบหมายให้ติดตามความคืบหน้าการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2567 โดยเฉพาะการดูแลนักเรียนที่ยังไม่มีที่เรียน ในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ตามนโยบาย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้ความสำคัญทางด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ป้องกันเด็กตกหล่นและหลุดจากระบบการศึกษา โดยเน้นย้ำว่า “เด็กทุกคนต้องมีที่เรียน” ครบถ้วนก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2567 นี้
นางภัทริยาวรรณ กล่าวว่า ตามที่ผู้ปกครองได้ยื่นความจำนงขอรับการจัดสรรที่เรียนไว้ ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และผ่านทางระบบออนไลน์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่ง จนถึงวันที่ 2 เมษายน 2567 นั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ประกาศผลให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้ทราบแล้ว ในวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ยังคงห่วงใยและกำชับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง ให้ความช่วยเหลือนักเรียนทุกคน หากพบว่านักเรียนคนใดยังไม่มีที่เรียน ให้อำนวยความสะดวกแก่นักเรียนและผู้ปกครองในการจัดหาที่เรียน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและคลายความกังวลใจของผู้ปกครอง
พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้รวบรวมรายชื่อโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศที่ยังมีที่นั่งว่างอยู่ โดยข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2567 มีโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัด สพฐ. ยังมีที่นั่งว่างสามารถรับนักเรียน ชั้น ม.1 ได้จำนวน 45,009 ที่นั่ง และชั้น ม.4 ได้จำนวน 54,162 ที่นั่ง โดยผู้ปกครองสามารถติดต่อสอบถามกับทางโรงเรียนได้โดยตรง และพาบุตรหลานไปสมัครเข้าเรียนกับทางโรงเรียนได้โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “ศูนย์ประสานงานการรับนักเรียน” ของทุกเขตพื้นที่การศึกษา ตามรายละเอียดและหมายเลขโทรศัพท์ ที่ปรากฏตามลิงก์นี้
https://drive.google.com/drive/folders/14sLL6RymRH743keeChFsz2IOWxnxhdVR
หรือสแกน QR CODE ตามที่ปรากฏ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ ได้ที่ “ศูนย์ประสานงานการรับนักเรียน สพฐ.” หมายเลขโทรศัพท์ 0 2280 5530 และ 0 2288 5839
“สพฐ. ได้เน้นย้ำกำชับให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษา ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้เด็กทุกคนได้มีที่เรียน รวมทั้งประสานกับสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด/กรุงเทพมหานคร ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอ/เขต ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด โรงเรียนเอกชน ครอบครัวและสถานประกอบการที่จัดการศึกษาทางเลือก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้จัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนปกติได้ เพื่อให้เด็กทุกคนไม่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา ได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมตามช่วงวัยในสถานศึกษาที่มีคุณภาพ “เรียนดี มีความสุข” อย่างถ้วนหน้าในทุกพื้นที่ของประเทศต่อไป ” รองโฆษก สพฐ. กล่าว