หมอแผนไทย ยืนยันการนวดมีประโยชน์จริง แต่ผู้รับบริการนวดไทยต้องรู้ข้อห้าม ข้อควรระวัง ในการนวด ที่สำคัญอย่าปกปิดประวัติความเจ็บป่วยของตนเองต่อผู้ให้บริการ ต้องแจ้งทุกครั้งที่เข้ารับบริการ โดยเฉพาะโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จากกรณีลูกจ้างหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งเสียชีวิต ระหว่างเข้ารับบริการนวดเพื่อสุขภาพ ประเภทนวดน้ำมันภายในร้านนวดของโรงแรมชื่อดังเขตเทศบาลนครอุดรธานี จากข้อมูลเบื้องต้นตามข่าวระบุ ก่อนเสียชีวิตมีการนวดบริเวณท้องและหยุดหายใจ ซึ่งรายละเอียดของการตรวจสอบข้อเท็จจริงในด้านกฎหมายอยู่ระหว่างรอผลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กำลังดำเนินการติดตามข้อเท็จจริง
ในส่วนของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีทำหน้าที่ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการ นวดไทย ทั้งในส่วนของทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีการจัดทำหลักสูตรการเรียน การสอนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่หลักสูตรการนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง หลักสูตรการบำบัดรักษาโรคเริ่มตั้งแต่ 330 ชั่วโมง 372 ชั่วโมง 800 ชั่วโมง และ 1,300 ชั่วโมง ซึ่งแต่ละหลักสูตรจะมีข้อจำกัด ขอบเขตความสามารถในการให้บริการ ตามลำดับดังที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ กรมมีการทำยุทธศาสตร์การนวดไทยระดับชาติ พัฒนาจนเป็นที่ยอมรับในระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อรักษากลุ่มอาการโรคต่างๆ ที่การนวดสามารถบำบัดได้ เช่น อาการไหล่ติด นิ้วล๊อค ไมเกรน ท้องผูก โรคสตรี อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคของโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น
จึงอยากให้ความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับการนวดท้อง ที่ระบุในข่าวและมีการสอบถามจากประชาชนเข้ามาด้วยว่าอันตรายหรือไม่นั้น สำหรับศาสตร์ความรู้ทางการนวดไทยพบว่าบริเวณท้องเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นประธานสิบ ซึ่งเป็นจุดกระจายเลือดลมไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ต้องกระทำการนวดด้วยผู้มีความรู้ความชำนาญคือ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และผู้ช่วยแพทย์แผนไทยที่ผ่านการอบรมอย่างน้อย 330 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งการนวดท้องส่วนใหญ่จะนวดรักษาโรคบางกลุ่มได้แก่ กลุ่มอาการท้องผูก กลุ่มโรคสตรี เป็นต้น ดังนั้นประชาชนที่ต้องการใช้บริการด้านการนวดไทย ต้องรู้จักแยกส่วนการเข้ารับบริการว่า ต้องการนวดเพื่อสุขภาพหรือบำบัดโรค เนื่องจากกลุ่มผู้ให้บริการนวดเป็นคนละกลุ่มกัน แต่สิ่งที่ผู้ใช้บริการนวดต้องให้ความสำคัญแก่ผู้ให้บริการทั้งเพื่อสุขภาพ และรักษาโรค คือ การให้ประวัติความเจ็บป่วยของตนเอง อย่าปกปิดเด็ดขาด โดยเฉพาะ อาการของโรคหัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น ต้องรู้ข้อห้ามข้อควรระวังในการนวดให้ละเอียด ซึ่งข้อห้ามในการนวด ได้แก่ 1.ห้ามนวดบริเวณที่เป็นมะเร็ง 2.ผู้ที่มีไข้สูงเกิน 38.5 องศา 3.บริเวณที่มีอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน 4.ผู้ที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ 5.กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ที่ยังไม่หายดี และ6.โรคติดเชื้อทางผิวหนัง ทุกชนิด ข้อควรระวังในการนวด ได้แก่ 1.สตรีมีครรภ์ 2.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง 3.ใส่อวัยวะเทียมหลังผ่าตัดกระดูก 4.ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง และ 5.ผู้ที่เพิ่งรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ (ไม่เกิน 30 นาที) และก่อนให้บริการนวดไทย
หากท่านใดมีข้อสงสัย หรือสนใจข้อมูลด้านการนวดไทย สามารถสอบถามได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ หรือเฟซบุ๊ค/ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือโทร 02 149 5678 ได้ในเวลาราชการ
17 สิงหาคม 2562