รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข แจง กระทรวงสาธารณสุขมีการวางระบบบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด ครอบคลุมตั้งแต่ผู้ป่วยไม่มีอาการทางจิตเวชไปจนถึงผู้ป่วยมีอาการทางจิตเวชและอาละวาด คลุ้มคลั่ง โดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับการบริการอย่างไร้รอยต่อ รองรับตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ด้านอธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะสังเกตสัญญาณเตือนก่อความรุนแรง ได้แก่ นอนไม่หลับ เดินไปมา พูดคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว และหวาดระแวง หากพบอาการรุนแรงเสี่ยงเป็นอันตราย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลังมีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับระบบบริการเพื่อรองรับผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ครอบคลุมทั้ง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง คือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วยและกำลังแสดงอาการอาละวาด คลุ้มคลั่ง (SMI-V: Serious Mental illness-Violence) 2) ผู้ป่วยกลุ่มสีส้ม คือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย อยู่ในระยะอาการกำเริบ มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง โดย 2 กลุ่มนี้ จะเข้ารับการบำบัดในหอผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รวม 127 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการไปแล้ว 12,780 ราย 3) ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง คือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย แต่อยู่ในระยะอาการสงบ จะดูแลโดยมินิธัญญารักษ์ในโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 140 แห่ง ให้บริการไปแล้ว 4,463 ราย และ 4) ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือผู้ป่วยยาเสพติดที่ไม่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย กระทรวงมหาดไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายได้เปิดบริการชุมชนล้อมรักษ์ (CBTx: Community Based Treatment) ประมาณ 322 แห่ง มารองรับ ให้บริการแล้ว 4,763 ราย โดยมีการเชื่อมโยงส่งต่อกันอย่างเป็นระบบเพื่อให้ผู้ป่วยยาเสพติดได้รับการบริการอย่างไร้รอยต่อ
“กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล ที่มอง “ผู้เสพคือผู้ป่วย” และมุ่งที่จะนำผู้ป่วยยาเสพติดเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติและปลอดภัย โดยสามารถติดต่อขอรับการบำบัดได้ที่ศูนย์คัดกรองของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลบาลตำบล หรือสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหลังเข้ารับการบำบัดแล้ว ยังมีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ช่วยเหลือในด้านอาชีพ การการศึกษาและทุนสงเคราะห์ อีกด้วย” นพ.สุรโชคกล่าว
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 กำหนดว่า บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิตกรณีใดกรณีหนึ่งนี้ คือ 1.มีภาวะอันตราย และ 2.มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา สามารถควบคุมตัวเข้ารับการรักษาได้ โดยหากพบผู้ที่มีลักษณะพฤติการณ์ดังกล่าว ให้รีบแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ เพื่อนำส่งสถานพยาบาลให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยอาการ ทั้งนี้ มาตรการที่จะทำให้การบำบัดรักษาสัมฤทธิ์ผลและลดจำนวนผู้ติดยาซ้ำหรือมีอาการกำเริบ ต้องเฝ้าระวังและช่วยกันเป็นหูเป็นตาในการสังเกตพฤติกรรม เพราะแม้จะเป็นผู้ที่รับการรักษา กินหรือฉีดยาจิตเวชอย่างต่อเนื่อง แต่หากยังมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุราและใช้สารเสพติด ก็จะทำให้อาการกำเริบได้ โดย 5 สัญญาณเตือนว่าจะนำมาซึ่งการก่อความรุนแรง ได้แก่ นอนไม่หลับ เดินไปมา พูดคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว และหวาดระแวง ดังนั้น หากพบผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่แสดงอาการผิดปกติหรือมีอาการกำเริบ มีแนวโน้มความรุนแรงมากและเป็นอันตราย ขอให้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ฝ่ายปกครอง/สายด่วนตำรวจ 191 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง