วันที่ 31 มีนาคม 2567 ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อํานวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมแสดงความยินดีกับ นายเปรมวิทย์ เกตุแก้ว และนายพีรกานต์ ยู จากโรงเรียนชลราษฎรอำรุง 2 เยาวชนไทยที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย ด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศ “ความสำเร็จด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ในเวทีการแข่งขัน “The 43rd Beijing Youth Science Creativity Competition (BYSCC)” เวทีประลองความคิดสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยผลงาน “รถสำรวจอัจฉริยะเพื่อศึกษาและติดตามพฤติกรรมการวางไข่ของเต่าตนุ”
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.NSM กล่าวว่า “องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ส่ง 2 ตัวแทนเยาวชนไทยจากโรงเรียนชลราษฎรอำรุง ที่ได้รับเหรียญเงินจากค่ายเวทีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์แห่งชาติ ครั้งที่ 19 Thailand Young Scientist Festival: TYSF 19 ระดับประเทศ ไปเข้าร่วมการแข่งขัน The 43rd Beijing Youth Science Creation Competition (BYSCC) ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 28 – 31 มีนาคม 2567 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีโครงงานทั้งหมด 662 โครงงาน จาก 7 ประเทศเข้าร่วมชิงชัย ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐอิตาลี สหพันธรัฐรัสเซีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และไต้หวัน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเวทีที่เยาวชนไทยจะได้ประลองความคิดสร้างสรรค์และโชว์ศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยผลปรากฏว่าเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ “ความสำเร็จด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”(The 1st Prize for Youth Science & Technology Innovation Achievement) ต้องขอชื่นชม 2 เยาวชนคนเก่งที่มีความสามารถ และนำผลงานไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ”
นายเปรมวิทย์ เกตุแก้ว จากโรงเรียนชลราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี ตัวแทนทีมเยาวชน เปิดเผยว่า “โครงงาน รถสำรวจอัจฉริยะเพื่อศึกษาและติดตามพฤติกรรมการวางไข่ของเต่าตนุ เป็นผลงานของตนเองกับ นายพีรกานต์ ยู จัดทำโครงงานนี้ขึ้นเพื่อ พัฒนาหุ่นยนต์รถสำรวจ ศึกษาและติดตามพฤติกรรมการขึ้นวางไข่ของเต่าตนุ โดยออกแบบโครงสร้างแบบ Rocker-Bogie ที่มีความเสถียรบนพื้นผิวหลากหลาย พัฒนาระบบควบคุมพลังงานไฟฟ้าของรถและระบบเฝ้าระวังตรวจจับการขึ้นมาวางไข่ของเต่าตนุแบบอัตโนมัติด้วย PIR Sensor และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมีความแม่นยำอยู่ที่ร้อยละ 97 ช่วยให้ติดตามพฤติกรรมและเฝ้าระวังเต่าตนุแทนมนุษย์ แก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร ส่งเสริมการอนุรักษ์เต่าทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับความสำเร็จในครั้งนี้ต้องขอขอบคุณ นางสาวปัทมาพร ณ น่าน และนางสาวนันทา ศรีแก้ว อาจารย์ที่ปรึกษาที่คอยแนะนำทีมตลอดมา รวมถึง NSM และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กับโอกาสในการเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ หวังว่าผลงานของพวกเราจะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทย มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป”