“สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4” จัดใหญ่คึกคัก ณ ลานคนเมือง กทม. ภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกระบวนการนโยบายสาธารณะ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันสร้างมหานครแห่งโอกาสและความเป็นธรรมเพื่อ “สังคมสุขภาวะ” พร้อมวางเป้าหมายภายใน 3 ปี ทั้ง 50 เขตของ กทม. มีธรรมนูญสุขภาพ – เชื่อมโยงระบบสุขภาพปฐมภูมิ รวมถึงสร้าง ‘ต้นแบบ’ พื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะ-จัดการหาบเร่แผงลอยอย่างเหมาะสม
วันที่ 31 มีนาคม 2567 กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด “ร่วมสร้างมหานครแห่งโอกาสและความเป็นธรรม เพื่อสังคมสุขภาวะ” ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ซึ่งเป็นกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ที่จัดขึ้นตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ นำโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ประธานร่วม คณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ได้มีการประกาศเจตนารมณ์ และยุทธศาสตร์ร่วมปี 2567-2570 ระบุว่า “เราจะร่วมสร้างมหานครแห่งโอกาสและความเป็นธรรมเพื่อสังคมสุขภาวะ ให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และความปลอดภัยอย่างเท่าเทียม ด้วยพลังความร่วมมือที่เข้มแข็งของทุกภาคส่วน ภายในปี 2570”
สำหรับกิจกรรมหลักของงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ได้มีการจัดเวทีสานพลังเสวนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2563 2. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤต และสุขภาพดีทุกช่วงวัยด้วยระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุณค่า 3. การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน 4. การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะ และพื้นที่เศรษฐกิจปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย
นายเตชิต ชาวบางพรหม หัวหน้าศูนย์ขับเคลื่อนสุขภาวะเขตเมือง (ศสม.) สช. เปิดเผยว่า นอกจากกิจกรรมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ แล้ว ยังมีธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ ที่เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในฐานะพื้นที่กลางที่เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมเมือง ได้เข้ามาส่งเสียงสะท้อนถึงปัญหา ความต้องการ ตลอดจนข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้ดังกึกก้องไปถึงผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องได้ โดยปัจจุบันได้มีการจัดทำ ‘ธรรมนูญสุขภาพระดับเขต’ ที่แยกย่อยลงไปแล้วใน 22 เขตของ กทม. และในไม่ช้าก็จะมีธรรมนูญฯ อีก 28 เขตตามมา
นายเตชิต กล่าวว่า เป้าหมายที่มีการตั้งร่วมกันไว้ภายใน 3 ปี คือให้มีการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระดับพื้นที่ ในทั้ง 50 เขตของ กทม. ที่เชื่อมโยงกับธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ และกลไกอื่นๆ เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะให้เกิดขึ้น โดยมีจุดเน้นหลักคือการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน รวมถึงวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของพื้นที่
นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า เรื่องของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิใน กทม. นับว่ามีความเปราะบาง เนื่องจากสภาพความซับซ้อนของปัญหาที่เมืองใหญ่ต่างๆ มักจะเผชิญ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ได้มีการหารือกันในเวที คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการในหน่วยบริการปฐมภูมิมากขึ้น ซึ่งก็จะต้องไปแก้ไขปัญหาในเรื่องของการเชื่อมต่อข้อมูล ขณะเดียวกันก็ต้องมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ภายใต้การมีส่วนร่วมของคลินิกเอกชนและประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ
“ตอนนี้หลายภาคส่วนต่างพยายามเน้นให้คนกลับไปใช้บริการในหน่วยปฐมภูมิมากขึ้น โดย กทม. มีคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ช่วยดูแลอยู่กว่า 300 แห่ง หากเหลือบ่ากว่าแรงก็ส่งมายังศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. หรือถ้าหนักก็อาจข้ามไปที่โรงพยาบาลเลย ซึ่งการจะดำเนินการเช่นนี้ต้องเชื่อมโยงการวางแผนและจัดบริการร่วมกันของเครือข่ายที่หลากหลาย บูรณาการให้เกิดกลไกความร่วมมือและมีข้อตกลงระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ประชาสังคม ซึ่งนี่คือเป้าหมายหลักที่เราต้องการให้เกิดขึ้นใน 3 ปี” นพ.สุนทร ระบุ
ขณะที่ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กล่าวว่า เรื่องของพื้นที่สาธารณะมีความเกี่ยวข้องในฐานะปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ซึ่งอันดับแรกจะต้องเปลี่ยนความเข้าใจ จาก ‘สวนสาธารณะ’ เป็น ‘พื้นที่เพื่อสุขภาวะของทุกคน’ ที่จะทำให้ผู้คนทุกกลุ่มมีสุขภาวะที่ดีได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนในชุมชนแออัดหรือไม่มีที่อยู่อาศัย ซึ่งการจะเกิดขึ้นได้เช่นนี้จำเป็นจะต้องมีกลไกกลางในระดับพื้นที่ และการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนมาช่วยกันออกแบบ ไปจนถึงการพัฒนาเครื่องมือ ‘ผังเมืองร่วม’ ตามมา
นพ.วิรุฬ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งสำคัญคือการสร้างพื้นที่นำร่อง (Sandbox) ในการมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้เกิดขึ้น โดยปัจจุบันกำลังจะมีโมเดลที่คลองเตย และภายใน 3 ปีนี้ก็มีการตั้งเป้าให้เกิดกลไกขับเคลื่อนให้มีพื้นที่ต้นแบบทั้ง 50 เขตของ กทม. พร้อมกับมีการกำหนดนิยาม สัดส่วน และการใช้ประโยชน์ที่ครอบกลุ่มการสร้างสุขภาวะ ให้ขยายผลไปสู่ทุกเขตต่อไป ซึ่งนับเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบาย ‘เส้นเลือดฝอย’ ของ กทม.
ด้าน ศ.นฤมล นิราทร ประธานอนุกรรมการวิชาการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพ กล่าวว่า เรื่องของเศรษฐกิจนับว่ามีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพ และหาบเร่แผงลอยก็ถือเป็นกลไกทางเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของเมือง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการขายของริมถนนเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ตั้งแต่เกษตรกร ตลาดสด ผู้ผลิต ไปจนถึงผู้บริโภคต่างๆ ที่ต้องพึ่งพิง ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ กทม. จะต้องมีวิธีการมองเศรษฐกิจฐานรากนี้ในเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาว มากกว่าการมองความเป็นระเบียบอย่างเดียว
“ความท้าทายคือเรายังไม่มีพื้นที่ต้นแบบชัดเจนในเรื่องการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยที่มีความเหมาะสม ซึ่ง กทม. นั้นมีความแตกต่างหลากหลายของแต่ละเขตพื้นที่ มีความเฉพาะของตัวเอง เป้าหมายที่เราต้องการให้เกิดใน 3 ปีนี้ จึงเป็นการจัดทำระบบ กลไก และต้นแบบการจัดการการค้าริมทางและเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีส่วนร่วม มีความเหมาะสมหลากหลายกับทั้ง 50 เขตใน กทม. เพื่อความมั่นคงทางอาชีพ สุขภาวะ และความมั่นคงทางอาหารของเมือง” ศ.นฤมล ระบุ
อนึ่ง ภายในงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2567 ยังมีกิจกรรมมากมายสำหรับประชาชนและภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วม เช่น การตรวจคัดกรองสุขภาพหลายรายการ การเดิน Walk Rally เดินช้อปชิม mini hawker center รวมถึงบูธนิทรรศการของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องภาคส่วนต่างๆ ขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมไฮไลต์อย่าง Citizen Talk และ Hyde Park TikTok ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อการพัฒนาเมือง
พร้อมกันนี้ ยังได้มีการเปิดตัวแอปพลิเคชัน “BKK-POLICYRANGER” ที่ให้ประชาชน กทม. สามารถร่วมโหวต 8 ด้าน 8 ประเด็น ซึ่งตนให้ความสำคัญและอยากเห็นการพัฒนาเป็นนโยบาย นับเป็นนวัตกรรมที่ช่วยในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือนโยบายสาธารณะที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและโอกาสด้านต่างๆ ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เพื่อมุ่งสู่สังคมสุขภาวะได้ต่อไป