กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้านโยบายรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา “ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” 3 รัฐมนตรี – แพทองธาร เปิดตัวระยะที่ 2 อย่างเป็นทางการที่นครราชสีมา พร้อมกับอีก 7 จังหวัด ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน ลดความแออัด ลดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เตรียมเดินหน้าระยะที่ 3 ครอบคลุม 6 เขตสุขภาพ ในเดือนพฤษภาคม ก่อนขยายผลครอบคลุมทั่วประเทศ ภายในสิ้นปีนี้
วันที่ 30 มีนาคม 2567 ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จ.นครราชสีมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมเปิดงาน “ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ระยะที่ 2 โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารในพื้นที่ บุคลากรสาธารณสุข ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น อสม. และประชาชน เข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน พร้อมกับการเปิดงานในอีก 7 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี หนองบัวลำภู สระแก้ว อำนาจเจริญ และพังงา
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกที่ทั้งรัฐและเอกชน เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงต่อรัฐสภา และเป็นนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน ทุกพื้นที่ ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการทุกระดับ ทุกสังกัด และยกระดับหน่วยบริการให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้จัดบริการสุขภาพ ซึ่งปัจจุบัน มีหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน รพ.อัจฉริยะแล้ว 99.7% มีการเชื่อมต่อ Application และไลน์หมอพร้อม ทั่วประเทศแล้วกว่า 40 ล้านคน
โดยมีการนัดหมายและให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลแล้ว 55,446 ครั้ง, ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล 81,317 ใบ, จัดส่งยาและเวชภัณฑ์โดย Health Rider ครอบคลุมแล้วกว่า 35 จังหวัด 55,376 ออร์เดอร์ ผู้รับบริการกว่า 90% พึงพอใจในระดับดีมาก ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจได้ว่า ข้อมูลสุขภาพของประชาชนทุกคนจะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยกระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามตรวจสอบและประเมินความเสี่ยง เพื่อยกระดับการป้องกันและสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับทุกโรงพยาบาล
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า จากการตรวจเยี่ยมติดตามการให้บริการในระบบต่างๆ ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อาทิ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ การออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ใบสั่งยา/ใบสั่งแล็บออนไลน์ การแพทย์ทางไกล เภสัชกรรมทางไกล การรับยาผ่านระบบเภสัชกรรมทางไกล การดูแลผู้ป่วยที่บ้านทางไกล รวมถึงระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ พบว่ามีความพร้อมอย่างมาก มีการยืนยันตัวตนของผู้รับบริการ Health ID 1,286,975 คน และลงทะเบียนผู้ให้บริการ Provider ID แล้ว 18,862 คน คิดเป็น 96.3% ของบุคลากรในจังหวัด ทุกโรงพยาบาลในสังกัด สธ. เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพได้ 100% ส่วนการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ระยะที่ 3 จะขยายเป็น 6 เขตสุขภาพ คือ เขตสุขภาพที่ 1, 3, 4, 8, 9 และ 12 ซึ่งเมื่อรวมกับ 2 ระยะแรกจะครอบคลุมถึง 45 จังหวัด จากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ภายในปี 2567 นี้
“หลังดำเนินการครบถ้วน ประชาชนทั่วประเทศจะได้รับความสะดวกในการเข้ารับบริการสุขภาพกับสถานพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดระยะเวลารอคอย และที่สำคัญ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งต้องขอขอบคุณทั้งภาครัฐ เอกชน สภาวิชาชีพต่างๆ ประชาชน และ อสม. ทุกจังหวัด ที่ช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายนี้ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพของพี่น้องคนไทย” นพ.ชลน่านกล่าว