อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รับมอบกัญชาแห้งของกลางจาก ป.ป.ส.พร้อมส่งต่อกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร เร่งผลิตน้ำมันกัญชาจากตำรับยาหมอพื้นบ้าน ตั้งเป้ากว่า 6 แสนขวด กระจายให้กับสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยภายใต้การควบคุมของแพทย์
นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับมอบวัตถุดิบกัญชาแห้งของกลางจากนายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และพันตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ณ อาคารสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ว่าวัตถุดิบกัญชาแห้งของกลางจาก ป.ป.ส. จำนวน 1,000 กิโลกรัม ที่รับมอบมาวันที่ 16 สิงหาคม 2562 กรมการแพทย์แผนไทยฯ มีแผนการที่จะนำวัตถุดิบกัญชาดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการวิจัย พัฒนาและผลิตเป็นน้ำมันกัญชาจากตำรับยาหมอพื้นบ้าน ในระดับกึ่งอุตสาหกรรมหรือในระดับอุตสาหกรรม เพื่อกระจายให้กับสถานพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์กับผู้ป่วย ภายใต้การควบคุมของแพทย์ ซึ่งจะดำเนินการผลิตโดยกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข อีกแห่งหนึ่งที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษให้ผลิตกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ของกัญชาทางการแพทย์แผนไทยได้
สำหรับวัตถุดิบกัญชาแห้งจำนวน 1,000 กิโลกรัมนี้ สามารถผลิตเป็นน้ำมันกัญชาจากตำรับยา หมอพื้นบ้าน ได้ประมาณ 600,000 กว่าขวด เฉลี่ยกำลังการผลิตของกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร ทำได้เดือนละประมาณ 100,000 กว่าขวด (ปริมาณ 5 ซีซี/ขวด) ทั้งนี้ มีการแบ่งการผลิตในจำนวน 130,000 ขวดต่อเดือน เป็นเวลา 5 เดือน รวมทั้งสิ้น 650,000 ขวด โดยจะกระจายไปยังสถานพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมายและหน่วยงานต้องการนำน้ำมันกัญชา ไปใช้ประโยชน์กับผู้ป่วยภายใต้การควบคุมของผู้ได้รับอนุญาตให้สั่งใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีคลินิกบริการด้านการแพทย์แผนไทย
นายแพทย์มรุต กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากขอรับการสนับสนุนวัตถุดิบกัญชาแห้งของกลาง จาก ป.ป.ส. แล้ว กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับไบโอเทคและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุญาตผลิต (ปลูก) ยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 (เฉพาะกัญชา) ต่อกองควบคุม วัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนด้านวัตถุดิบกัญชา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยต่อไป และขอยืนยันให้ประชาชนมั่นใจว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นยาตำรับต่าง ๆ จะได้รับการตรวจพิสูจน์ด้านความปลอดภัยตามหลักวิชาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนนำไปผลิตสู่การใช้ประโยชน์ทุกกระบวนการ ตามขั้นตอนหลักการที่ได้มาตรฐาน