นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST International Secretariat) ได้ประกาศรางวัล The CoST Awards ประจำปี 2023 ในการประชุม CoST Manager Workshop 2024 ณ เมืองกัวดาลาฮาร่า รัฐฮาลิสโก สหรัฐเม็กซิโก ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 21 มีนาคม 2567 ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก CoST International จำนวน 19 ประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยประเทศไทยได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง (Honorable Mention 2023) สาขา Data Disclosure ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่ประเทศสมาชิกที่มีผลงานการดำเนินงานโครงการ CoST โดดเด่นด้านการเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางของ CoST
“กรมบัญชีกลางเข้าเป็นสมาชิกของโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency Initiative) หรือ CoST ของประเทศไทย ตั้งแต่ 22 กันยายน 2557 และเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 โดยในระยะแรก กรมบัญชีกลางได้เชิญชวนหน่วยงานของรัฐให้เข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ และต่อมา ได้ขยายผลโดยกำหนดให้โครงการ CoST เป็นการดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ทำให้จำนวนโครงการก่อสร้างที่เข้าร่วมโครงการ CoST เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการเกิดความตระหนักที่จะต้องดำเนินงานโครงการก่อสร้างให้โปร่งใส มีคุณภาพ และต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการสู่สาธารณะตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุดโครงการ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานโครงการ CoST ให้กับหน่วยงานในส่วนภูมิภาค กรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้สำนักงานคลังเขต 9 เขต และสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัด ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รายไตรมาสพร้อมจัดเวที ภาคประชาชนเพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหาและผลกระทบจากโครงการก่อสร้างดังกล่าว จากประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบโครงการก่อสร้างหรือประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการก่อสร้างอีกด้วย” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว
อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการ CoST ในระดับจังหวัดอย่างต่อเนื่อง กรมบัญชีกลางจึงได้จัดให้มีโครงการส่งเสริมการดำเนินงานโครงการ CoST ในระดับจังหวัด ระยะที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสนับสนุนให้หน่วยงานภายในจังหวัดจัดส่งโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศ CoST เข้าร่วม CoST ทุกโครงการ รวมทั้งเปิดเผยข้อมูล ให้ครบถ้วนและถูกต้องตามแนวทางของ CoST โดยได้ดำเนินการระยะที่ 1 ในปี 2564 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้ขยายผลระยะที่ 2 ในปี 2566 ในอีก 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สกลนคร และสุพรรณบุรี ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าว ในปี 2564 จังหวัดฉะเชิงเทรามีร้อยละการเปิดเผยข้อมูลอยู่ที่ 96.20 ทำให้อันดับในการเปิดเผยข้อมูลของจังหวัดฉะเชิงเทราเลื่อนเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ จากเดิม ในปี 2563 มีการเปิดเผยข้อมูลอยู่ในลำดับที่ 39 และในปี 2566 กรุงเทพมหานคร สกลนคร และสุพรรณบุรี มีร้อยละการเปิดเผยข้อมูลอยู่ที่ 93.65 99.87 และ 99.68 ตามลำดับ ทำให้อันดับในการเปิดเผยข้อมูลเลื่อนไปอยู่ในลำดับที่สูงขึ้น โดยกรุงเทพมหานคร จากเดิมอยู่ในลำดับที่ 75 เลื่อนเป็นอันดับที่ 20 ของประเทศ จังหวัดสกลนครจากเดิมอยู่ในลำดับที่ 12 เลื่อนเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ และจังหวัดสุพรรณบุรีจากเดิมอยู่ในลำดับที่ 61 เลื่อนเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ
ผลจากการจัดทำโครงการ CoST ระดับจังหวัด จึงทำให้โครงการ CoST ของประเทศไทยมีความโดดเด่นและก้าวหน้าในด้านการเปิดเผยข้อมูลกว่าประเทศสมาชิกอื่น จนทำให้ได้รับรางวัล The CoST Awards 2023ในปีนี้ และในอนาคตกรมบัญชีกลางจะมุ่งพัฒนาการดำเนินงานโครงการ CoST ให้ตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาชนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างภาครัฐของประเทศไทยต่อไป