อย. เร่งขับเคลื่อนการจัดการด้านยาและเวชภัณฑ์ รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

อย. จับมือกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ร่วมขับเคลื่อนการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านยาและเวชภัณฑ์ให้เหมาะสม รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

วันที่ 28 มีนาคม 2567 นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ประธานประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนากรอบรายการยาและเวชภัณฑ์ และกรอบรายการยาชุดออกหน่วยสถานบริการและช่วยเหลือประชาชนเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมต่อภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพในอนาคตนับเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะความพร้อมด้านยาและเวชภัณฑ์ จำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อรับมือให้ทันกับโลกและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เพียงเฉพาะกับโรคระบาดใหม่แต่ยังรวมถึงภัยธรรมชาติและภัยสุขภาพอื่น ๆ

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ จึงได้บูรณาการงานร่วมกับกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม รวมถึงผู้แทนจากภาคเอกชน สมาคม ชมรม และภาคประชาชน ร่วมกันประเมินความพร้อมทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อนำไปพัฒนากลไกและรูปแบบการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินตามขอบเขตของโรคและภัยสุขภาพ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังให้ยาและเวชภัณฑ์มีความเพียงพอและเหมาะสมต่อความต้องการทางสาธารณสุข และผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนยาให้น้อยที่สุด

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า อย. มียุทธศาสตร์เน้นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น โดยได้จัดทำระบบฐานข้อมูลด้านยาเพื่อตรวจสอบย้อนกลับและติดตามการกระจายผลิตภัณฑ์สุขภาพตลอดห่วงโซ่ การจัดทำข้อมูลปริมาณคงคลังยาและเวชภัณฑ์ (Stockpile) การจัดทำระบบสืบค้นและรายงานข้อมูลผลิตภัณฑ์ยา

รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตยาที่ใช้ในประเทศเพื่อพึ่งพาตนเองของประเทศ หากเกิดภาวะฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤตในประเทศไทย บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากประเทศมีกลไกที่พร้อมสำหรับการบริหารจัดการในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่ดี มีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ได้อย่างทันท่วงที หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการเกิดภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข