องคมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จังหวัดราชบุรี ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนางานสำคัญของโรงพยาบาล โดยมีผลงานเด่นในการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชสารเสพติดที่ก่อความรุนแรงในชุมชน โดยมีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลช่วยเหลือแบบไร้รอยต่อ ช่วยให้เลิกใช้สารเสพติด กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ร่วมกับชุมชนได้
วันที่ 28 มีนาคม 2567 ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง จังหวัดราชบุรี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พร้อมด้วย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของโรงพยาบาล มอบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่โรงพยาบาลและมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สาขาจอมบึง พร้อมมอบถุงของขวัญพระราชทานให้กับผู้ป่วย และให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงาน
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง ดูแลประชากรประมาณ 65,000 คน มีผลสำเร็จในการจัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติหลายโครงการ อาทิ โครงการถวายการดูแลสุขภาพให้กับพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และผู้นำทางศาสนา 72,000 รูป/ท่าน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา ตรวจพบกลุ่มเสี่ยง 254 รูป/ท่าน ได้ทำกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนสามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นกลุ่มปกติได้ถึง 111 รูป/ท่าน, โครงการรณรงค์คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง (Colonoscopy) เฉลิมพระเกียรติ ในประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทำให้พบผู้ป่วยมะเร็ง 3 ราย ได้ส่งเข้ารับการผ่าตัดและเคมีบำบัดจนสิ้นสุดการรักษา
นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง ยังมีผลงานเด่นในการแก้ไขปัญหาสารเสพติด ที่แพร่ระบาดจนทำให้มีผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชจากสารเสพติดเพิ่มขึ้น และมีการก่อเหตุรุนแรงในชุมชน โดยการพัฒนาแก้มอ้นโมเดล ซึ่งเป็นรูปแบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชสารเสพติดที่ก่อความรุนแรงในชุมชนมีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลช่วยเหลือแบบไร้รอยต่อ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่องจนครบการบำบัดรักษา และเมื่อกลับมาอยู่ในชุมชน ผู้ป่วยได้รับโอกาสและการยอมรับ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนได้โดยไม่มีเหตุรุนแรง ขณะที่ในโรงพยาบาลก็ได้ขยายบริการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดจากจุดบริการที่รวมกับผู้ป่วยในทั่วไป เป็นอาคารมินิธัญญารักษ์ ให้การดูแลผู้ป่วยระยะกลาง โดยบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลและสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รองรับผู้ป่วยได้ 6-10 เตียง ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ลดค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลารอคอย ช่วยให้สามารถเลิกใช้สารเสพติดและกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมีการพัฒนางานในด้านอื่นๆ อาทิ โครงการเบาหวานสงบในชุมชน จนเกิดต้นแบบที่สามารถหยุดยาได้ การพัฒนาระบบริการรักษาโรคหลอดเลือดสมองร่วมกับเครือข่ายในจังหวัดราชบุรี การให้บริการเชิงรุกแก่ประชาชนที่เข้าถึงบริการได้ยาก เช่น เครือข่ายดูแลผู้ป่วยจิตเวช เครือข่ายผู้พิการ จัดตั้งโรงงานขาเทียมพระราชทาน เป็นต้น ส่งผลให้ได้รับรางวัลสำคัญ ได้แก่ โรงพยาบาลอัจฉริยะระดับเพชร รางวัลมาตรฐานการจัดบริการสำหรับพระสงฆ์อาพาธที่เอื้อต่อพระธรรมวินัยระดับดีเยี่ยม รางวัลคุณภาพ Reaccredit HA ยาเสพติด ครั้งที่ 2 รางวัล Green & Clean Hospital Challenge ระดับท้าทาย ด้านการจัดการของเสียทางการแพทย์