สตง. ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรง ในทุกพื้นที่ ล่าสุดเข้าตรวจสอบการบริหารระบบเตือนสาธารณภัยพบปัญหาบางประการเกี่ยวกับการทำงานและการแสดงผลของระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติส่วนใหญ่ไม่ต่อเนื่องและไม่ครบถ้วน ระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้าขาดความแม่นยำ รวมถึงปัญหาเรื่องการแจ้งเตือนภัยและการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขต่อไป
นายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รักษาราชการแทน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนทั่วโลก ทำให้สถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว ฯลฯ มีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงในทุกพื้นที่ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2565 รัฐจึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารระบบเตือนสาธารณภัย จำนวน 1,074.95 ล้านบาท แต่จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารระบบเตือนสาธารณภัย โดยการตรวจสอบเอกสาร สัมภาษณ์ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งทดสอบความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์เตือนภัย ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี เชียงราย นครราชสีมา พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี และสุโขทัย มีประเด็นข้อตรวจพบที่สำคัญ ดังนี้
1. การพัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติ (โทรมาตร) ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด จากการตรวจสอบ ข้อมูลรายงานการตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศของโทรมาตรที่แสดงผลผ่านทางเว็บไซต์และ แอปพลิเคชัน DPM Alert จำนวน 555 แห่ง พบว่า โทรมาตรไม่สามารถตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศได้อย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาติดต่อกันมากกว่า 2 วันขึ้นไป จำนวน 318 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 57.30 ของจำนวนโทรมาตรที่ตรวจสอบ และแสดงผลข้อมูลตรวจวัดสภาพอากาศและคุณภาพอากาศไม่ครบถ้วนอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 1 วัน เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ฝุ่นขนาด PM 2.5 ฯลฯ จำนวน 539 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 97.12 ของจำนวนโทรมาตรที่ตรวจสอบ อีกทั้งยังพบว่าประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศและคุณภาพอากาศ รวมถึงการแจ้งเตือนภัยผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันข้างต้น ในขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นำเข้าข้อมูลการแจ้งเตือนในแต่ละพื้นที่เข้าสู่ฐานข้อมูลของแอปพลิเคชันและไม่มี การใช้ประโยชน์ข้อมูลจากแอปพลิเคชัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนทั้งก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย ตลอดจนไม่่เคยมีการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน
2. ระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System: DSS) คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน ในระดับพื้นที่ขาดความแม่นยำ จากการสุ่มตรวจสอบสาธารณภัย (อุทกภัยและวาตภัย) ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ 7 จังหวัด รวม 170 ครั้ง เปรียบเทียบกับแผนที่คาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า 1 วัน พบว่า ระบบ DSSมีการคาดการณ์ไม่แม่นยำ มีจำนวนถึง113 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 66.47 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบ ขณะที่ ระบบ DSS คาดการณ์แม่นยำมีเพียง 57 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 33.53 ของจำนวนที่สุ่มตรวจสอบ
3. การแจ้งเตือนภัยและการกระจายข้อมูลไม่เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนด จากการตรวจสอบสถิติสาธารณภัย ได้แก่ อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก/ดินโคลนถล่ม และวาตภัย ที่เกิดขึ้นจริงจำนวน 3,387 ครั้ง พบว่าหน่วยปฏิบัติระดับจังหวัดไม่ออกหนังสือแจ้งเตือนภัยไปยังหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ (อำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จำนวน 1,334 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 39.39 ของจำนวนสาธารณภัยที่เกิดขึ้น หรือมีการออกหนังสือแจ้งเตือนภัยไปยังหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ แต่เป็นการแจ้งเตือนภัยที่ไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่กำหนดให้ต้องแจ้งเตือนภัยภายใน 24 ชั่วโมงก่อนเกิดภัย กล่าวคือ เป็นการแจ้งในวันที่เกิดภัยหรือหลังเกิดภัย เป็นต้น ในขณะเดียวกันสำหรับการแจ้งเตือนภัยประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยผ่านอุปกรณ์เตือนภัยนั้น จากการทดสอบความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์เตือนภัย (หอเตือนภัย เครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย และหอกระจายข่าว) จำนวน 82 แห่ง ในพื้นที่ 7 จังหวัด พบว่าอุปกรณ์เตือนภัยไม่มีความพร้อมสำหรับการแจ้งเตือนภัย โดยมีจำนวนครั้งในการทดสอบมากกว่า 1 ครั้งขึ้นไปและทดสอบเสียงสัญญาณเตือนภัยไม่ดัง หรือมีเสียงดัง แต่ไม่ชัดเจน หรือเสียงขาดหายเนื่องจากอุปกรณ์สำคัญชำรุดหรือเสื่อมสภาพมีจำนวนถึง 54 แห่ง หรือคิดเป็น ร้อยละ 65.85 ของอุปกรณ์เตือนภัยที่สุ่มตรวจสอบ เป็นต้น
4. การเตรียมความพร้อมรับมือและอพยพไม่เป็นไปตามแนวทางและวัตถุประสงค์ที่กำหนด จากการตรวจสอบพบว่าการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับพื้นที่ยังไม่ครบถ้วน รวมถึงการจัดทำ แผนเผชิญเหตุยังไม่ครอบคลุมสาธารณภัยที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพบว่าการเตรียมความพร้อมรับมือภัยจากสึนามิให้กับประชาชนในพื้นที่ 6 จังหวัด ฝั่งอันดามันยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด เช่น บริเวณ จุดติดตั้งหอเตือนภัยไม่มีแผนที่แสดงทางหนีภัยจากคลื่นสึนามิ หรือเส้นทางอพยพไปยังจุดปลอดภัย บางเส้นทาง ไม่ชัดเจน ไม่ต่อเนื่อง และบางจุดไม่มีป้ายบอกเส้นทาง รวมทั้งอาคารหลบภัยมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ถูกปล่อย ทิ้งร้าง ไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ฯลฯ
รายงานการตรวจสอบของ สตง. ระบุว่า จากประเด็นข้อตรวจพบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการบริหารระบบเตือนสาธารณภัย โดยทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถ นำข้อมูลที่มาจากสภาพแวดล้อมในพื้นที่จริงมาใช้ประกอบการวิเคราะห์และคาดการณ์สาธารณภัยเพื่อแจ้งเตือนภัยไปยังพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยยังไม่สามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และทำให้รัฐอาจต้องใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในการบรรเทาและฟื้นฟูสาธารณภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเฝ้าระวังและ แจ้งเตือนภัยเป็นจำนวนเงินประมาณ 514 ล้านบาท
จากผลการตรวจสอบข้างต้น สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไข อาทิ ให้มีการมอบหมายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการดูแลบำรุงรักษาและตรวจสอบความชำรุดบกพร่องของอุปกรณ์โทรมาตรที่อยู่ระหว่างรับประกันความชำรุดบกพร่อง และจัดทำแผนการบำรุงรักษาอุปกรณ์โทรมาตรหลังสิ้นสุดระยะเวลาการรับประกัน รวมถึงกำหนดแนวทางในการปฏิบัติในการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์โทรมาตรและสภาพแวดล้อมที่ติดตั้งอุปกรณ์โทรมาตร ให้มีการพัฒนา ปรับปรุงระบบ DSS ให้สามารถใช้งานได้อย่างแม่นยำตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดโดยบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานภายในและภายนอกและกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากระบบ DSS ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่การเฝ้าระวัง การติดตาม การวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ การแจ้งเตือนภัยไปยังพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมเครือข่ายเฝ้าระวัง/อาสาสมัครเตือนภัยในพื้นที่และติดตามผลการรายงานการแจ้งเตือนภัยไปยังหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ สำรวจและรวบรวมปัญหาในการใช้งาน การดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์เตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศพร้อมหาแนวทางแก้ไข ตลอดจนเร่งรัดให้มีการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้มีการสำรวจจุดปลอดภัยให้มีความพร้อมรองรับการอพยพกรณี เกิดคลื่นสึนามิ รวมถึงสำรวจความพร้อมของป้ายเส้นทางไปยังจุดปลอดภัยให้มีความต่อเนื่อง ชัดเจน และจัดให้ มีแผนที่ทางหนีภัย รวมทั้งแก้ไขปัญหาอาคารหลบภัยให้มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ เป็นต้น