เตรียมรับมือโรคดอกเน่าในดาวเรือง

อากาศร้อนชื้นและมีฝนตกบางพื้นที่ อาจส่งผลกระทบต่อการปลูกดาวเรือง กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกดาวเรืองเฝ้าระวังการระบาดของโรคดอกเน่า มักพบได้ในระยะติดดอกดาวเรือง โดยจะพบแสดงอาการเริ่มแรกที่กลีบดอกมีลักษณะฉ่ำน้ำ  ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลจากปลายกลีบดอกไปหาโคนดอก จากนั้นจะเน่าลุกลามเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลทั่วทั้งดอก ทำให้ดอกดาวเรืองเสียคุณภาพ หากเชื้อราเข้าทำลายในระยะดอกตูม ดอกจะไม่สามารถบานได้ กรณีเชื้อราเข้าทำลายรุนแรงในระยะที่ดอกบานแล้ว เชื้อราจะขยายลุกลามไปสู่ต้น ทำให้ต้นเน่าและยืนต้นตายในที่สุด

สำหรับในสภาพที่มีฝนตกชุกและอากาศมีความชื้นสูง ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากเริ่มพบอาการของโรคที่ดอก ให้เกษตรกรตัดดอกที่เป็นโรคหรือตัดส่วนที่เป็นโรคไปทำลายหรือฝังดินนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดปริมาณเชื้อราสาเหตุโรค อีกทั้งควรกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก และตัดแต่งใบแก่ออก เพื่อให้ต้นโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ซึ่งถือเป็นการลดความชื้นในดิน ทำให้ไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราสาเหตุโรค

กรณีที่พบโรคดอกเน่ายังคงระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอโรทาโลนิล 50% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยให้พ่นทุก 5-7 วัน

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร