วันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 เมื่อเวลา 09.00 น.ที่ ห้องประชุมอู่ทอง โรงแรมคลาสสิค คามิโอ อยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างการรับรู้ให้กับนายจ้าง สถานประกอบการ แรงงานต่างด้าว และองค์กรภาคีเครือข่าย โดยมี นางสาวสุฏิญญา แก่นจ้าย จัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้
การจัดโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการแรงงานต่างด้าว ผู้แทนชมรม สมาคมอาชีพ องค์กรภาคเอกชน ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป มีความรู้ความเข้าใจพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2561 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้าใจระเบียบและขั้นตอนการขอรับ การขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน การแจ้งเข้า – แจ้งออกจากงานของแรงงานต่างด้าว รวมทั้งให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการเขตปลอดการจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเพื่อป้องกัน และลดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานต่างด้าวเป็นที่ทราบกันดีว่าแรงงานต่างด้าว เป็นกำลังแรงงานที่สำคัญในตลาดแรงงานของประเทศไทยช่วยให้อุตสาหกรรมชับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในภาคอุตสาหกรรม ภาคการก่อสร้างและอื่น มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีแรงงานต่างด้าวทำงานมากถึง 45,954 คน เป็นคนต่างด้าวผู้มีความรู้ทักษะ ความชำนาญ ช่างฝีมือและนักลงทุน รวมถึงคนต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 5,057 คน เป็นชนกลุ่มน้อยและคนบนพื้นที่สูงที่กรมการปกครองสำรวจแล้ว จำนวน 678 คน เป็นแรงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม จำนวน 40,223 คน จากข้อมูลของกรมการจัดหางานพบว่าปัจจุบันมีชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย และมาทำงานในตำแหน่งครู ผู้สอน ในสถานศึกษาทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จำนวนทั้งสิ้น 11,200 คน โดยสัญชาติที่เข้ามาทำงานดังกล่าวมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ 4,360 คน อังกฤษ 1,569 คน สหรัฐอเมริกา 1,143 คน จีน 778 คน ญี่ปุ่น 351 คน และสัญชาติอื่นๆ 2,899 คน ในส่วนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานจัดหางานจังหวัด จะเป็นหน่วยงานหลักในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ขั้นตอนการขออนุญาตทำงานกฎ ระเบียบ และโทษหากไม่ปฏิบัติตาม พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบคนต่างด้าวที่ทำงานแหน่งครู ผู้สอน และการขอรับใบอนุญาตทำงาน (work permit) ให้เป็นไปอย่างถูกตามกฎหมาย หากพบทำงานในประเทศไทยโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การอบรมครั้งนี้มีนายจ้าง/สถานประกอบการที่เป็นสถานศึกษาที่มีการจ้างคนต่างด้าว เข้ามาทำงานเป็นครู และผู้สอน เข้ารับการอบรมจำนวนทั้งสิ้น 50 คน
ในการจัดอบรมครั้งนี้ มีการบรรยายในหัวข้อ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กับการตรวจลงตรา และการขออยู่ต่อในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวโดยวิทยากรจากตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, การให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560. และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561, การปฏิบัติตามคู่มือการขออนุญาตทำงาน รวมทั้งตอบข้อชักถามโดยวิทยากรจากสำนักงานจัดหางานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา