นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) เปิดเผยว่า เต่าทะเลทั่วโลกมีทั้งหมด 8 ชนิด ประกอบด้วย เต่าหลังแบน เต่าตนุดำ เต่าหญ้าแอตแลนติก เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวค้อน และเต่ามะเฟือง โดยในประเทศไทยพบได้เพียง 5 ชนิด คือ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวค้อน และเต่ามะเฟือง ซึ่งปัจจุบันเต่าทะเลถูกจัดเป็นสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่ง โดยทั่วโลกกำลังตระหนักถึงการลดจำนวนลง และมีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ไปในไม่ช้า โดยเฉพาะเต่าทะเลในน่านน้ำไทย ซึ่งเหลือจำนวนน้อยมาก ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองและอนุรักษ์เต่าทะเลแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังมีปัญหาขยะพลาสติกที่เต่าทะเลกินเข้าไป เนื่องจากลักษณะที่ดูคล้ายแมงกะพรุนที่เป็นอาหารหลักของเต่าทะเล ทำให้ขยะพลาสติกเข้าไปติดในระบบทางเดินอาหารและป่วย จนถึงแก่ชีวิตในที่สุด และอีกหนึ่งภัยคุกคามของเต่าทะเลที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ ทั้งการทำประมงชายฝั่ง การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง การสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรของเต่าทะเล รวมถึงการลักลอบเก็บไข่เต่าทะเลจากทั้งคนและสัตว์ชนิดต่างๆ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หวั่นเต่าทะเลสูญพันธุ์จากท้องทะเลไทย จึงกำหนดกฏหมายคุ้มครองและอนุรักษ์เต่าทะเลในประเทศไทย พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลอย่างใกล้ชิด จากความแน่วแน่และตั้งใจในการดำเนินงานปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรเต่าทะเล มูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ร่วมมือกับสมาคมอนุรักษ์เต่าทะเลนานาชาติ จัดประชุมเต่าทะเลนานาชาติ ครั้งที่ 42 (ISTS2024) ขึ้น เพื่อรวบรวมนักวิชาการ นักวิจัย นักอนุรักษ์ นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจเต่าทะเล มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ การเผยแพร่ผลงานวิชาการ ตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์เต่าทะเลทั่วโลก ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดียิ่งในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในการอนุรักษ์เต่าทะเล ระหว่างหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยในปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 24-29 มีนาคม 2567
และในวันนี้ (26 มีนาคม 2567) ตนในฐานะรองประธานมูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้รับเกียรติให้เป็นประธานกล่าวเปิดงานประชุมฯ พร้อมเป็นสักขีพยานในการมอบรางวัล ISTS President Award 2024 ให้แก่พลเรือเอก สุวิน แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการทหารเรือ รวมถึงมอบโล่รางวัลให้แก่หน่วยงานสนับสนุน พร้อมกับเยี่ยมชมผลงานทางวิชาการและนิทรรศการจากหน่วยงานสนองพระราชดำริ
โดยมี Dr. Stephen G. Dunbar ประธานสมาคมอนุรักษ์เต่าทะเลโลก รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ประธานมูลนิธิ Earth Agenda นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ตลอดจนคณะผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัด กระทรวง ทส. กองทัพเรือ มูลนิธิอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยฯ สมาคมอนุรักษ์เต่าทะเลนานาชาติ มูลนิธิ Earth Agenda กรมประมง ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากนานาประเทศ จำนวน 750 คน เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมฯ ณ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้มีกิจกรรมมากมาย อาทิ การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ การศึกษา ผลงานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับการอนุบาลลูกเต่าทะเลในที่เลี้ยงจากนานาประเทศ การประชุมกลุ่มย่อยเพื่อสร้างเครือข่ายและความร่วมมือด้านการอนุรักษ์เต่าทะเลในประเทศ และระดับภูมิภาค การนำเสนอผลงานทางวิชาการ การจัดนิทรรศการให้ความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรมทัศนศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เราทุกคนสามารถช่วยกันอนุรักษ์เต่าทะเลได้ง่ายๆ เริ่มต้นจากการทิ้งขยะให้เป็นที่ ปกป้องพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวมถึงการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อระบบนิเวศทางทะเล เพื่อเต่าทะเลจะได้คงอยู่คู่ทะเลไทยต่อไปในอนาคต “นายจตุพร ปกท.ทส. กล่าวทิ้งท้าย”
ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เต่าทะเลทั่วโลก ผ่านการประชุมระดับนานาชาติ ที่มุ่งเน้นศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศเต่าทะเล รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการอนุรักษ์เต่าทะเลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเต่าทะเลนับว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลหายากที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล และทำให้ระบบนิเวศของแนวปะการังสามารถคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลของห่วงโซ่อาหาร แต่ในปัจจุบันเต่าทะเลทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกภาคส่วนหันมาใส่ใจและร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเต่าทะเลสูญพันธุ์ จึงได้มีการระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาประเทศ เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ ผ่านเวทีการประชุมเต่าทะเลนานาชาติ ครั้งที่ 42 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปกป้องและคุ้มครองสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะเต่าทะเล ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนบุคคลากร อุปกรณ์ ยานพาหนะ เรือ ในการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่มีการประชุม พร้อมกันนี้ได้ร่วมจัดนิทรรศการภายใต้หัวข้อ “การอนุรักษ์เต่าทะเลในประเทศไทย” โดยนำเสนอข้อมูลความรู้ภารกิจด้านการอนุรักษ์เต่าทะเล และผลกระทบของขยะทะเลต่อสัตว์ทะเลหายากอีกด้วย