วันที่ 15ส.ค.62 กรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขผลกระทบต่อชุมชนในการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุตรดิตถ์
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจาก ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ให้นำทีมคณะสื่อมวลชนสัญจรลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขผลกระทบต่อชุมชนเนื่องจากการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูสภาพป่า รวมทั้งการแก้ไขปัญหาด้านอาชีพ
ทั้งนี้ นอกจากการดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำแล้ว กรมชลประทานยังดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย โดยร่วมบรูณการกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นและประชาชนในพื้น ร่วมกันจัดตั้งโครงการปลูกป่า เพื่อทดแทนพื้นที่ป่าที่สูญเสียไปเนื่องจากการก่อสร้างโครงการฯ พร้อมสร้างความเข้าใจต่อชุมชนและดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการพัฒนากลุ่มอาชีพ 5 กลุ่ม 5 ตำบล ในพื้นที่โดยรอบโครงการฯ ส่งเสริมอาชีพพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน อาทิ กล้วยอบน้ำผึ้ง เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ ทุเรียน เมล็ดกาแฟ และเครื่องจักรสาน สร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชน ส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มั่นคงอย่างยั่งยืน
สำหรับ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่9)ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี พร้อมระบบผันน้ำ ระบบส่งน้ำและอาคารประกอบไว้ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคของราษฎร ที่อพยพจากบริเวณพื้นที่ถูกน้ำท่วมเหนือเขื่อนสิริกิติ์ อําเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 49,500ไร่ ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศสูงต่ำแตกต่างกันมาก ประกอบกับมีพื้นที่ขนาดใหญ่และใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จากระบบท่อส่งน้ำที่ส่งน้ำมาจากเขื่อนสิริกิติ์ ผ่านทางท่อซีเมนต์ใยหิน ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2529 จึงมีสภาพชํารุดทรุดโทรม แตก และรั่วซึมเสมอ ส่งผลให้สูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยนช์ ทั้งยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังส่งน้ำได้เพียง 5,000 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 50,000 ไร่ ทําให้เกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง และไม่มีน้ำสำหรับทำการเกษตร
คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ 11 ปี (2554-2564) ประกอบด้วย เขื่อนหัวงาน และอาคารประกอบพร้อมอุโมงค์ส่งน้ำและท่อส่งน้ำ ปัจจุบันผลการดำเนินงานแล้วกว่าร้อยละ 55 ซึ่งหากโครงการฯ แล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค โดยมีพื้นที่รับประโยนช์กว่า 53,000 ไร่ 9 ตำบล ช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่แปลงอพยพที่ได้เสียสละที่ดิน เพื่อก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำมานานกว่า 40 ปี ทั้งยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำน่าน รวมทั้งยังได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบโครงการฯ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถสร้างรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย