สสช.จับมือ สวทช. วิจัยและพัฒนา การพัฒนาสถิติและสารสนเทศเพื่อการสนับสนุนการตัดสินใจของประเทศ

ในวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ณ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี มีพิธีร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาสถิติและสารสนเทศเพื่อการสนับสนุนการตัดสินใจของประเทศ โดย นายภุชพงค์ โนดโธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นผู้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ด้วยสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่จำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ให้รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง รวมถึงความคาดหวังจากรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายได้อย่างถูกต้อง สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักทางด้านข้อมูลสถิติของประเทศต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาข้อมูลให้ทันต่อความต้องการของรัฐบาลที่ต้องใช้ข้อมูลวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงประชาชนที่ต้องมีสิทธิได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของรัฐได้อย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งวัตถุประสงค์สำคัญของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้คือ การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดข้อมูลสถิติและสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของประเทศ

พิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือที่ประเทศจะได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นการจับมือกันระหว่างหน่วยงานหลักด้านข้อมูลกับหน่วยงานหลักด้านการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความเข้มแข็งมากได้มาร่วมมือกันภายใต้ยุคที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีดิจิทัล  ยุคที่รัฐบาลต้องการขับเคลี่อนประเทศให้ก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางยุค Thailand 4.0 ไปจนถึงการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยปัจจุบันทั้งสองหน่วยงานมีโครงการที่ร่วมดำเนินการที่สำคัญ เช่น

– โครงการจัดทำระบบบัญชีเศรษฐกิจสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล (System of Environmental-EconomicAccounting: SEEA) เป็นการจัดทำข้อมูลบัญชีประชาชาติที่คิดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้ประเทศมีข้อมูลที่สะท้อนผลการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

– โครงการพัฒนาข้อมูลเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เช่น การพัฒนามาตรฐานข้อมูลพื้นที่เขตเมืองและชนบทของประเทศ เป็นการพัฒนาข้อมูลโดยใช้วิธีการใหม่ (New Methodology) และใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลอื่นเพื่อลดภาระการออกเก็บภาคสนามเช่น ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม GUF (Global Urban Footprint) ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน  และเทคนิคการประมาณค่าประชากรในลงพื้นที่ย่อย

******************************