พพ. เปิดเวทีระดมความเห็นพื้นที่ภาคอีสานต่อร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP 2018 ในมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากความหลากหลายเชื้อเพลิงตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ หนุนเกิดโรงไฟฟ้าชุมชนตามนโยบายรัฐเพิ่มสัดส่วนสู่เป้าหมายร้อยละ 30 ในปี 2580 ให้สอดรับแผนกำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2018 คาดร่างแผนเสร็จ ส.ค.นี้
นายวันชัย บรรลือสินธุ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. ได้เปิด “เวทีรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ต่อร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 (AEDP 2018)” ครั้งที่ 3 จังหวัดขอนแก่น เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียในการนำมาปรับปรุงให้แผนมีความสอดคล้องกับความเห็นของภาคประชาชนและ. สอดรับกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) ที่มีเป้าหมายเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 30 ของความต้องการไฟฟ้าทั้งประเทศ หรือคิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 29,358 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2580 โดยจะรวบรวมความเห็นที่ได้จากการระดมความคิดเห็นต่อร่างแผน AEDP2018 ให้แล้วเสร็จภายในสิงหาคมนี้ เพื่อปรับปรุงร่างแผนให้มีความสมบูรณ์ต่อไป
“การรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่จะนำความเห็นของผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียของคนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของแหล่งเชื้อเพลิงไม่ว่าจะเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ พืชพลังงาน วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พลังน้ำ รวมไปถึงพลังงานแสงอาทิตย์และลม จึงมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ทั้งในรูปของไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงชีวภาพ รวมไปถึงการดำเนินมาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ด้วย” นายวันชัย กล่าว
ทั้งนี้ ร่างแผนดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน ของประเทศตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการให้นโยบายพลังงานเพื่อทุกคนและสนับสนุน ให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน โดยเฉพาะการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในพื้นที่และภาพรวมของประเทศ โดยจะคำนึงถึงเชื้อเพลิงที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่และศักยภาพของระบบสายส่ง ซึ่งตามแผน PDP 2018 การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่สำคัญ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ (On Grid) ตลอดแผนรวม 10,000 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมไฟฟ้าพลังงานน้ำ (กฟผ.) 2,725 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ SPP Hybrid Firm และ SPP Semi Firm 5,407 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ ชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดภาคใต้ 120 เมกะวัตต์ เป็นต้น