วันที่ 15 ส.ค. 62 เวลา 09.00 น. ที่ห้องราชดำเนิน โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ: การรับรองเพศสภาพของบุคคลข้ามเพศ” และบรรยายพิเศษเรื่อง “สิทธิความเท่าเทียมของบุคคลสู่ความมั่นคงของมนุษย์” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 115 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนจากภาคประชาสังคม และผู้แทนจากผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้สังเกตการณ์
นายจุติ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศ วิถีทางเพศ และเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ทั้งยังเกี่ยวพันกับหลายๆหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศ รับผิดชอบการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่สำคัญ คือ การป้องกันและให้ความคุ้มครองต่อผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ทั้งเพศหญิง เพศชาย หรือด้วยเหตุที่มีความหลากหลายทางเพศ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือคณะกรรมการ วลพ. มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยคำร้องของผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งพบว่าตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สถิติผู้มายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ วลพ. กว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และ ปัญหาที่บุคคลเหล่านี้ถูกเลือกปฏิบัติล้วนแล้วแต่มีสาเหตุมาจากการที่ผู้ร้องมีอัตลักษณ์ทางเพศ วิถีทางเพศ และเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดทั้งสิ้น
นายจุติ กล่าวต่อไปว่า กระทรวง พม. โดย สค. จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ : การรับรองเพศสภาพของบุคคลข้ามเพศ” ในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย เนื่องจากการจัดทำกฎหมายรับรองเพศสภาพของบุคคลข้ามเพศนี้ จะเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงของประเทศไทย เป็นประชาธิปไตยในความหมายของการยอมรับและเคารพความแตกต่าง ความหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ และ 2) เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคการเมือง ซึ่งเป็นสามเสาที่สำคัญในการสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อทุกคนในสังคม เพราะหากปราศจากความเห็นพ้องต้องกันของสามเสาหลักนี้ การจัดทำกฎหมายรับรองเพศย่อมเกิดขึ้นได้ยาก
นายจุติ กล่าวอีกว่า มีรายงานทางวิชาการหลายชิ้นพบว่ากลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศล้วนมีประสบการณ์ถูกเลือกปฏิบัติและถูกกีดกัน ทั้งด้านการทำงาน ด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงประสบปัญหาหลายอย่างในการใช้ชีวิตประจำวัน และยังถูกเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงบริการของภาครัฐด้วย ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าสาเหตุสำคัญของการเลือกปฏิบัติ คือ อัตลักษณ์ทางเพศ หรือเพศวิถี หรือเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดของบุคคลนั้นๆ ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ส่งผลให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมจะมีความพยายามแก้ไขปัญหา ด้วยการผลักดันให้มีการปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่ รวมทั้งพยายามจัดทำกฎหมายฉบับใหม่ขึ้น เช่น ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต พ.ศ. ….. การประชุมฯ ในวันนี้ ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และจะนำไปกำหนดแนวทางในการจัดทำกฎหมายเพื่อรับรองเพศสภาพได้ ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินงานขั้นต่อไป คือ การจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง และการจัดตั้งคณะทำงานร่างกฎหมายรับรองเพศสภาพต่อไป
“ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การเสวนา เรื่อง “ไม่มีกฎหมายเพื่อคนข้ามเพศ หากไม่มีส่วนร่วมของคนข้ามเพศ” การอภิปราย เรื่อง “ความหลากหลายทางเพศ : ความหลากหลายของความเป็นมนุษย์” และเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “เคลื่อนทัพ รับรองเพศ” นายจุติ กล่าวในตอนท้าย