กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยเอฟทีเอช่วยดันส่งออกมังคุดไทยเติบโตก้าวกระโดดแม้อยู่ในช่วงการค้าชะลอตัว ทำยอดส่งออกครึ่งแรกปี 62 กว่า 325 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ถึง 220% ชี้ตลาดจีนและอาเซียนขยายตัวสูงสุด พร้อมหนุนผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอต่อเนื่อง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มังคุดไทยได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในฐานะราชินีแห่งผลไม้ ประกอบกับเอฟทีเอ 13 ฉบับ ที่ส่งผลให้ในปัจจุบันมี 14 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา อินเดีย ชิลี เปรู และฮ่องกง ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยแล้วนั้น ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้ามังคุดอันดับต้นของโลก โดยในปี 2561 ไทยส่งออกมังคุดไปตลาดโลกถึง 226.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวกว่าปี 2560 ร้อยละ 3.32 ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์การส่งออกของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 (มกราคม-มิถุนายน) ไทยส่งออกมังคุดได้สูงถึง 325 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึงร้อยละ 220 ซึ่งมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีนและอาเซียน ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึงร้อยละ 97 โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 (มกราคม-มิถุนายน) ไทยส่งออกมังคุดไปจีนมูลค่า 229.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึงร้อยละ 408 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 71 สำหรับอาเซียน ไทยส่งออกมังคุดมูลค่า 84.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึงร้อยละ 46 ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 26
นางอรมน เสริมว่า เอฟทีเอนับเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้การส่งออกขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกมังคุดไทยสู่ตลาดโลกในปี 2561 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกมังคุดเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 22,540 หากแยกรายตลาดพบว่าการส่งออกมังคุดไทยไปยังประเทศคู่เอฟทีเอมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะจีนขยายตัวร้อยละ 34,667 เมื่อเทียบกับปี 2545 ก่อนที่จีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 11,420 เมื่อเทียบกับปี 2535 ก่อนที่สมาชิกอาเซียนจะลดภาษีนำเข้ามังคุดจากไทยภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 2,400 เมื่อเทียบกับปี 2552 ก่อนการลดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งสอดคล้องกับสถิติในปี 2561 ที่มังคุดเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกเป็นอันดับต้น
“เพื่อผลักดันให้มังคุดและผลไม้ไทยครองใจผู้บริโภค เกษตรกรควรรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช พัฒนาคุณภาพการผลิตตามความต้องการของตลาด ซึ่งปัจจุบันนิยมผลไม้ปลอดสารพิษหรือเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น รวมทั้งสร้างเอกลักษณ์ด้วยการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สร้างตราสินค้าหรือแบรนด์ของตนเอง เพื่อสร้างความแตกต่างจากผลไม้ของประเทศอื่น และปรับตัวเข้าสู่การค้ายุคใหม่โดยสร้างองค์ความรู้ด้านต่างๆ เช่น การตลาดในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับสินค้าและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะสามารถครองตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าผลไม้ไทยได้” นางอรมน กล่าว
ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี พร้อมทั้งสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี ได้ที่เว็บไซต์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือโทร. 0 2507 7555
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
สิงหาคม 2562