กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเดินหน้าคุ้มครองผู้บริโภค ติดอาวุธทีมพยาบาล เสริมทักษะด้านการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ปั้นวิทยากรต้นแบบ รองรับสังคมสูงอายุ ให้ผู้สูงอายุอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสถานดูแลที่มีมาตรฐาน
นายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 และกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2564 โดยคาดการณ์ว่าใน พ.ศ. 2574 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คือ มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าปี 2560 ไทยมีผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 11,312,447 คน ซึ่งสิ่งที่ สธ.ต้องรับมือกับผู้สูงอายุกว่าสิบล้านคนก็คือการดูแลสุขภาพ ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ความพิการ หรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ความต้องการการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุก็จะเพิ่มมากขึ้น และต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อลดภาวะเสี่ยงต่างๆที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และการเสียชีวิตจากปัญหาที่แก้ไขได้ ลดทอนภาวะทุพพลภาพและชะลอความเสื่อมถอย การจัดบริการในสถานดูแลผู้สูงอายุจึงต้องมุ่งให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี หากถึงวาระสุดท้ายก็จากไปอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี ดังนั้นต้องมีทีมพยาบาลที่เป็นผู้มีทักษะความรู้และให้บริการอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งการบริการดังกล่าวไม่ได้มีเพียงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุของไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้สูงอายุต่างชาติกลุ่ม Long stay visa ด้วย หากสามารถพัฒนาขีดความสามารถของการให้บริการในระดับสากล จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของบริการ สนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางบริการส่งเสริมสุขภาพระดับนานาชาติ(wellness hub) สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ
ด้านนายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กรม สบส. เปิดเผยว่ากิจการบริการสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มกิจการสำคัญที่กองสถานประกอบการฯ ต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนากระบวนงานด้านการควบคุม กำกับ ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบกิจการสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ รองรับตามมาตรา 3(3) ของพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 กองสถานประกอบการฯจึงได้จัดให้มีการอบรมหลักสูตรทักษะวิทยากรการดูแลผู้สูงอายุอายุระยะยาวขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณนี้ ตั้งเป้าอบรมทั้งหมด 100 คน ใช้ระยะเวลาอบรม 17 วัน จำนวน 120 ชั่วโมง โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการพยาบาลและการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวจากกองการพยาบาล สำนักงานปลัด สธ. มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี(นนทบุรี) และ รพ.ราชวิถี เพื่อเป็นการสร้างและพัฒนาให้ผู้ได้รับการอบรมซึ่งเป็นกลุ่มพยาบาลวิชาชีพ หรือนักวิชาการสาธารณสุขที่มีพื้นฐานมาจากพยาบาลวิชาชีพ หรือมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุทั้งภาครัฐและเอกชน ให้สามารถเป็นต้นแบบ(วิทยากรครู ก.)ในการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจด้านการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวให้แก่ผู้ดูแลผู้สูงอายุในกิจการดูแลผู้สูงอายุ และเพิ่มประสิทธิภาพแก่ผู้เข้ารับการอบรมได้นำความรู้ไปพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป.