22 มี.ค. วันน้ำโลก “ซีพีเอฟ” ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ร่วมอนุรักษ์น้ำ ตลอดห่วงโซ่การผลิต

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ รณรงค์การใช้น้ำอย่างรับผิดชอบ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงส่งต่อองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้กับชุมชน และเกษตรกร ให้สามารถมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง สานต่อแนวคิด “การใช้น้ำเพื่อสร้างสันติภาพ” (Leveraging Water for Peace) เนื่องในวันอนุรักษ์น้ำโลก World Water Day 2024

นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลและบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำให้กับชุมชน มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในองค์กร และลดการพึ่งพาน้ำจากแหล่งน้ำภายนอก ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ภายใต้หลักการ 3Rs ประกอบด้วย ลดการใช้น้ำ (Reduce) นำน้ำกลับมาใช้ซ้ำโดยไม่ผ่านการบำบัด (Reuse) และนำน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ทำให้ในปี 2566 กิจการของซีพีเอฟใน 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดียและตุรเคีย สามารถลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหนึ่งหน่วยการผลิต (Water Withdrawal) ลงได้มากกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2558 พร้อมทั้งมีส่วนร่วมกับเกษตรกร ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีน้ำอย่างเพียงพอและเพิ่มการเข้าถึงแหล่งน้ำของชุมชน

ซีพีเอฟ นำเทคโนโลยีมาใช้ตลอดกระบวนการผลิตต้นน้ำถึงปลายน้ำ ส่งผลให้ลดการดึงน้ำจากแหล่งภายนอกมาใช้ ได้แก่ การนำเทคโนโลยีไบโอฟลอค (Biofloc) มาบำบัดน้ำและของเสียภายในฟาร์มกุ้ง ร่วมกับเทคโนโลยีการกรองน้ำแบบความละเอียดสูง (Ultrafiltration) เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน ได้น้ำสะอาดหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ ทำให้ฟาร์มกุ้งสามารถลดการดึงน้ำจากภายนอกมาใช้ได้ถึงร้อยละ 75 ขณะที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ได้นำระบบลมเย็น (Air Chill) มาใช้แทนการใช้น้ำเย็น (Water Chill) เพื่อลดอุณหภูมิของเนื้อไก่ ซึ่งช่วยสามารถลดการใช้น้ำลงได้ประมาณร้อยละ 15 เทียบกับการผลิตแบบเดิม

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังนำน้ำที่บำบัดแล้วมาใช้ซ้ำในกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร เช่น ล้างคอกสุกร รดน้ำต้นไม้ ล้างพื้นถนนในโรงงาน รวมถึงนำน้ำบางส่วนกลับเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ด้วยระบบกรองน้ำขั้นสูงแบบรีเวิร์สออสโมซิส (Reverse Osmosis : RO) เพื่อให้ได้น้ำคุณภาพตามมาตรฐาน สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการที่ไม่สัมผัสโดยตรงกับอาหาร เช่น ระบบระบายความร้อนของระบบทำความเย็น ทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ โดยในปี 2566 ซีพีเอฟสามารถนำน้ำกลับมาใช้ซ้ำและนำน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาใช้ใหม่ในปี 2566 คิดเป็นร้อยละ 19.5 ของปริมาณการดึงน้ำมาใช้ทั้งหมด

ซีพีเอฟยังได้ต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้จากกระบวนการดำเนินงานของบริษัท ถ่ายทอดและทำโครงการร่วมกับเกษตรกร ชุมชน เช่น โครงการปันน้ำปุ๋ย โดยแบ่งปันน้ำปุ๋ยที่ผ่านการบำบัดจากระบบไบโอแก๊สของฟาร์มให้แก่เกษตรกรที่ขอรับน้ำในบริเวณใกล้เคียง โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งบริษัทได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ และนวัตกรรม พัฒนาระบบการจัดการน้ำ สร้างความความมั่นคงทรัพยากรน้ำ ให้กับหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า และกำแพงเพชร รวมทั้งโครงการ ‘รักษ์ลำน้ำมูล’ ที่บริษัทร่วมกับชุมชนและหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดนครราชสีมาในการบริหารจัดการน้ำ อนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตลอด15 ปีที่ผ่านมา เพื่อดูแลลำน้ำมูลให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ เพื่อส่งมอบสู่รุ่นต่อไปอย่างยั่งยืน