กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 11/2567

กสม. เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวให้ ศธ. พิจารณาโอนงานให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้กำกับดูแลแทน สพฐ.– ตรวจสอบกรณีกรมทางหลวงชนบทมีแผนก่อสร้างถนนผ่านกลางพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยงชี้ละเมิดสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ

วันที่ 22 มีนาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 11/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

  1. กสม. เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ให้ ศธ. พิจารณาโอนงานให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้กำกับดูแลแทน สพฐ.

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ระบุว่า ประเทศไทยมีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว มากกว่า 2,000 ครอบครัวซึ่งผู้จัดการศึกษาได้รับความเดือดร้อนและถูกลิดรอนสิทธิในการจัดการศึกษา เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปลี่ยนแปลงแก้ไขแนวทางการดำเนินงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว โดยพบปัญหา ได้แก่ การปฏิเสธแผนการจัดการศึกษาในรูปแบบกลุ่มประสบการณ์ การกำหนดให้ยื่นความประสงค์ขออนุญาตจัดการศึกษาได้เพียงปีละสองครั้ง การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ขาดการมีส่วนร่วมของผู้จัดการศึกษา กลไกการดำเนินการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไม่มีความพร้อมในการอนุญาตให้จัดการศึกษา การส่งเสริมสนับสนุนไม่เป็นระบบและไม่มีคุณภาพ อีกทั้งการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว จึงขอให้ตรวจสอบ นอกจากนี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 กสม. ได้พิจารณาปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว และมีมติให้ศึกษารวบรวมข้อมูลและข้อกฎหมาย ตลอดจนปัญหาอุปสรรคให้ครบถ้วนรอบด้านเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบด้วย

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชนสากล ตลอดจนรับฟังความเห็นจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และรัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 กำหนดว่า นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ครอบครัวมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย

กสม. ได้พิจารณาสภาพปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว และเห็นว่ามีประเด็นสำคัญดังนี้ (1) การเตรียมการเพื่อขออนุญาตจัดการศึกษา ยังขาดแหล่งการเรียนรู้หรือแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว (2) การยื่นความประสงค์ขออนุญาตจัดการศึกษา มีความไม่ชัดเจนในเรื่องช่องทางการยื่นขออนุญาตต่อเนื่องจากระดับประถมศึกษาไปยังมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่มีกรอบระยะเวลาและการนับระยะเวลาการขออนุญาตที่ชัดเจน และเมื่อครอบครัวยื่นคำขออนุญาตแล้ว ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา แต่ครอบครัวไม่ส่งเด็กเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษา ส่งผลให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา (3) การจัดทำแผนการจัดการศึกษา เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากไม่กำหนดกรอบระยะเวลา และการนำหลักเกณฑ์และวิธีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กับผู้เรียนในระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว อาจไม่สอดคล้องกับผู้เรียนในรูปแบบกลุ่มประสบการณ์หรือผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (4) การขออนุญาตจัดการศึกษา มีการเพิ่มขั้นตอนการขออนุญาตให้อยู่ในอำนาจของสองหน่วยงาน คือทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด เป็นผลให้การอนุญาตให้จัดการศึกษาเป็นไปด้วยความล่าช้า และ (5) การวัดผลและประเมินผลของผู้เรียน ซึ่งใช้วิธีการประเมินของการศึกษาในระบบ (ข้อสอบ) มาใช้กับผู้เรียนในรูปแบบกลุ่มประสบการณ์อาจไม่สอดคล้องกับแผนการจัดการศึกษาโดยครอบครัว องค์ประกอบคณะกรรมการวัดและประเมินผลขาดการมีส่วนร่วมของผู้จัดการศึกษา การวัดและประเมินผลการเรียนระดับผู้จัดการศึกษา และระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ เคารพความเห็นต่างของแต่ละฝ่าย รวมถึงผู้เรียน มีมาตรการคุ้มครองเด็ก เปิดโอกาสให้ภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา การอำนวยความสะดวกในการให้บริการ ไม่สร้างขั้นตอนเกินความจำเป็น มีกรอบระยะเวลาและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แนวคิดปรัชญาการศึกษาที่แตกต่างกันส่งผลให้การดำเนินงานดังกล่าวเกิดปัญหาอุปสรรคในขั้นตอนต่าง ๆ แม้ สพฐ. จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด และสร้างองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาอุปสรรคที่เกิดได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็ก อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในการศึกษาการแก้ไขปัญหาในระยะยาวควรมีกลไกที่เหมาะสมในการกำกับดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางเลือกมีบุคลากรที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพทัดเทียมกับการศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่19 มีนาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

(1) ให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาโอนภารกิจการกำกับดูแลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งมีแนวคิดปรัชญาในการจัดการศึกษาสอดคล้องกัน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้แทนผู้จัดการศึกษามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทั้งในระดับพื้นที่ และระดับนโยบายเพื่อตอบสนองการเพิ่มขึ้นของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวในอนาคต

(2) ให้ สพฐ. และสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการร่วมกันปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่เพื่อให้มีความชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งจัดอบรมให้ความรู้บุคลากรที่เกี่ยวข้องในเรื่องแนวคิด ปรัชญา กฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

(3) ให้ สพฐ. เพิ่มช่องทางในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวของส่วนกลางและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการยื่นความประสงค์ขออนุญาตจัดการศึกษาและการจัดทำแผนการจัดการศึกษา โดยจัดให้มีแนวทางการจัดทำแผนการจัดการศึกษาซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษแต่ละระดับ แต่ละรูปแบบการจัดการศึกษา และประเภทความพิการ และกำหนดแนวทางหรือหลักเกณฑ์ของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้โดยใช้วิธีการประเมินอย่างหลากหลาย โดยให้มีบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวร่วมเป็นคณะกรรมการวัดและประเมินผล และเปิดโอกาสให้ครอบครัวสามารถเข้าร่วมชี้แจงเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน หรือเข้าร่วมสังเกตการณ์การประเมินผลได้ ทั้งนี้ ให้จัดให้มีกลไกการรับฟังความคิดเห็นของเด็กโดยคำนึงถึงอายุ สติปัญญา พัฒนาการ ความพร้อม และความต้องการของเด็ก ประกอบการจัดทำแผนการจัดการศึกษา และการให้ความคุ้มครองเด็กกรณีที่เด็กไม่ประสงค์จะเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ทั้งนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือครอบครัวจะต้องไม่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้จัดการศึกษาด้วย

  1. กสม. ตรวจสอบกรณีกรมทางหลวงชนบทมีแผนก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนนครอินทร์ ช่วงศาลายา – นครชัยศรี ผ่านกลางพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง ชี้ละเมิดสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจ

นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 จากประธานสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด และผู้แทนสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ระบุว่า ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2566 กรมทางหลวงชนบท ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวเส้นทางที่เหมาะสมเพื่อก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนนครอินทร์ ช่วงศาลายา – นครชัยศรี จำนวน 3 แนวเส้นทาง ผลการศึกษาพบว่า แนวทางเลือกที่ 3 ซึ่งมีระยะหนึ่งตัดผ่านกลางพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จำนวน 12 แปลงย่อย มีความเหมาะสมมากที่สุด ผู้ร้องและผู้แทนสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัดเข้าร่วมประชุมและแสดงความคิดเห็นคัดค้านผลการศึกษาแนวเส้นทางดังกล่าวเนื่องจากจะส่งผลกระทบหลายประการต่อพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง เช่น วิถีชีวิตเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมจะเปลี่ยนแปลงไปการกว้านซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จากนายทุน อาจส่งผลต่อระบบนิเวศและการทำเกษตรกรรมในพื้นที่โฉนดชุมชน รวมทั้งไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดนครปฐมที่มุ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 ผู้ร้องได้จัดเวทีประชุมหารือร่วมกับสมาชิกสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด และผู้ที่อาศัยในพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จำนวน 250 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เห็นด้วยกับโครงการที่จะมีถนนผ่านเข้ามาในพื้นที่ และนำเสนอความเห็นดังกล่าวต่อกรมทางหลวงชนบทในเวทีรับฟังความคิดเห็นเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 แล้ว แต่ข้อทักท้วงดังกล่าวไม่มีผลต่อการพิจารณาของกรมทางหลวงชนบท เนื่องจากการประชุมรับฟังความเห็นในครั้งนั้นเป็นขั้นตอนสุดท้ายของโครงการ จึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติให้การรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรับรองสิทธิประชาชนและชุมชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ และสิทธิในเชิงกระบวนการ ซึ่งการดำเนินการของรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมพิจารณาการดำเนินการนั้นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนที่เกี่ยวข้องก่อน

เมื่อพิจารณาถึงประเด็นความจำเป็นของโครงการก่อสร้างถนนผ่านพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง เห็นว่า แม้เหตุผลความจำเป็นที่สำคัญของการก่อสร้างถนน คือ ความจำเป็นด้านการจราจร ทั้งการเชื่อมต่อโครงข่ายจราจรและแก้ไขปัญหาการจราจรของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และความจำเป็นเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพัฒนาพื้นที่โดยรอบ แต่ต้องพิจารณาควบคู่กับเจตจำนงของชุมชนคลองโยงด้วย กล่าวคือ ชุมชนคลองโยงต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างมั่นคงตั้งแต่ปี 2519 – 2553 มีเจตจำนงอย่างชัดเจนในการอนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรมแห่งนี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมการปลูกข้าวและนาบัวที่สำคัญของจังหวัดนครปฐม โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 และเมื่อวันที่14 ธันวาคม 2553 โอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุแปลงเลขที่ 42341 และแปลงเลขที่ 42342 ให้สหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนและท้องถิ่นในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรักษาไว้ซึ่งสมบัติของแผ่นดิน โฉนดชุมชนคลองโยง จึงถือเป็นโฉนดชุมชนฉบับแรกของประเทศไทยและเป็นความก้าวหน้าของการรับรองสิทธิชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

กสม. เห็นว่า แนวคิดการสร้างถนนเส้นทางดังกล่าวของกรมทางหลวงชนบท จึงเป็นการละเลยซึ่งสิทธิในการกำหนดเจตจำนงตนเองของชุมชนคลองโยง ประกอบกับการประเมินผลกระทบของกรมทางหลวงชนบทในโครงการนี้ไม่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่งผลให้การประเมินผลกระทบไม่ครอบคลุมถึงข้อมูลที่แสดงถึงความสำคัญของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยงอย่างรอบด้าน ทั้งที่ข้อมูลข้างต้นเป็นปัจจัยสำคัญของการเป็นต้นทุนที่ทำให้ชุมชนบรรลุซึ่งสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอและดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ดังนั้น การลดทอนคุณค่าของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยงให้เหลือเพียงพื้นที่เกษตรกรรมที่มีต้นทุนเวนคืนต่ำ และให้น้ำหนักกับความจำเป็นด้านการจราจร ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าผลกระทบที่ไม่อาจชดเชยได้กับสิ่งที่ชุมชนคลองโยงจะสูญเสียไป ซึ่งอาจนำไปสู่การเสนอขออนุมัติโครงการเพื่อก่อสร้างถนนผ่านพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จึงรับฟังได้ว่า การกระทำของกรมทางหลวงชนบท ผู้ถูกร้อง เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงประเด็นการมีส่วนร่วมของสมาชิกสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัดในการรับทราบข้อมูลของโครงการการก่อสร้างถนนดังกล่าว เห็นว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จัดโดยผู้ถูกร้องเป็นเพียงการเสนอข้อมูลและผลการศึกษาของผู้ถูกร้อง โดยที่ผู้ร้องและชุมชนมีหน้าที่รับฟังและเสนอความคิดเห็น ซึ่งข้อคัดค้านของชุมชนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลการศึกษาของผู้ถูกร้อง รวมทั้งผู้ถูกร้องยังไม่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการให้สมาชิกสหกรณ์บ้านคลองโยงซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันและจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจากการที่จะมีถนนตัดผ่านกลางชุมชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง อันเป็นการละเลยซึ่งสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนตามรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งจะต้องมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐ และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วย ประเด็นนี้ จึงรับฟังได้ว่า การกระทำของกรมทางหลวงชนบท ผู้ถูกร้องเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

(1) ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้กระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงชนบท ผู้ถูกร้อง ยกเลิกเส้นทางที่เป็นแนวทางเลือกที่ 2 และ 3 เฉพาะในช่วงที่ตัดผ่านพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง เนื่องจากหากดำเนินการต่อไป จะเป็นการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน และต้นทุนฐานทรัพยากรที่ไม่อาจประเมินค่าได้ของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง และให้กรมทางหลวงชนบทพัฒนาและออกแบบกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน โดยควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตั้งแต่การพิจารณาถึงความจำเป็นของโครงการ การกำหนดปัจจัยที่ใช้ในการศึกษา การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกแนวทางเลือกที่จะมีหรือไม่มีโครงการ การใช้กระบวนการสานเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจของทุกฝ่าย รวมทั้งการกำหนดผู้ได้รับผลกระทบให้ครอบคลุม

(2) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติพิจารณาร่างกฎกระทรวง ระเบียบ หรือมาตรการ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนในพื้นที่โฉนดชุมชน โดยควรได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติและได้รับความเห็นชอบจากชุมชนที่จะได้รับผลกระทบก่อน ทั้งนี้ เพื่อรับรองเจตนารมณ์ของรัฐในการจัดให้มีโฉนดชุมชนเพื่อกระจายการถือครองที่ดินอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นอกจากนี้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 โดยควรให้โครงการหรือการดำเนินการ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ผังเมืองรวมกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม