เริ่มแล้ว ความร่วมมือขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาระดับพื้นที่ของ ศธ. และ สช. ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. ‘สิริพงศ์’ ตั้งเป้านักเรียนทุกคน “เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี”

วันที่ 21 มีนาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา เรื่องการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษาด้วยการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่ : เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี โดยเป็นความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

ร่วมด้วยผู้บริหารระดับสูง นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ.กล่าวว่า วันนี้นับเป็นก้าวที่สำคัญที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษา ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาที่ได้ลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ถือเป็นการร่วมกันดำเนินงานตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพในสถานศึกษาสู่เป้าหมาย : เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบสุขภาพสถานศึกษา โดยบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อให้ผู้เรียน มีความรอบรู้ มีทักษะ และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ได้แก่ สุขภาพกาย จิต ปัญญา และสังคม รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ให้กับผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนชุมชนที่อยู่บริเวณโดยรอบสถานศึกษา ที่จะเป็นพลังในการเฝ้าระวังและเป็นรั้วให้กับสถานศึกษา

นอกจากนี้ ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ยังส่งผลเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ ให้สถานศึกษามีพันธมิตรในการปกป้อง ดูแล ส่งเสริม สนับสนุนให้เป็นสถานศึกษาที่ปลอดภัย ไร้ความรุนแรง ปลอดอบายมุข และสิ่งเสพติด โดยชุมชนในพื้นที่โดยรอบสถานศึกษาจะช่วยกันทำหน้าที่เฝ้าระวังและป้องกันอันตรายให้กับสถานศึกษาส่งผลให้นักเรียน เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี” ตอบสนองนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ เน้นให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วนดังที่กล่าวไว้ว่า “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน

ทั้งนี้กลไกสำคัญของ ศธ. คือ ผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้บริหารหน่วยงานในระดับพื้นที่ สำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ที่ต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการสานพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย หลังจากการประชุมครั้งนี้เราจะมีฐานข้อมูลสนับสนุนทรัพยากรในการทบทวน จัดทำ และพัฒนาระบบสุขภาพสถานศึกษา ด้วยกระบวนการธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาแบบมีส่วนร่วม สถานศึกษาจะได้รับการสนับสนุนส่งเสริมในทุกมิติจากภาคีเครือข่าย ส่งผลให้ผู้เรียนมีความรอบรู้ มีทักษะ และพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ตลอดจนการติดตามผลการดำเนินงานเพื่อนำมาสู่กระบวนการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป

“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้เรียนรู้และได้รับการบ่มเพาะการมีส่วนร่วมในวิถีประชาธิปไตยผ่านกระบวนการธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา และสามารถนำไปต่อยอดการดำเนินชีวิตให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อประเทศชาติในอนาคต” นายสิริพงศ์ กล่าว

นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สุขภาพของเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นอนาคตของประเทศนั้น เกี่ยวข้องกับปัจจัยที่หลากหลายมากมาย หน่วยงานด้านสาธารณสุขหรือด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียวไม่สามารถดำเนินการจัดการได้ ต้องอาศัยหน่วยงาน หรือภาคีจากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการนั้นถือเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญมากในเรื่องนี้เนื่องจากสถานศึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยส่งเสริมและเอื้อให้เกิดสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางจิต สุขภาวะทางปัญญา รวมถึงการตระหนักรู้ มีสำนึกรับผิดรับชอบ และสุขภาวะทางสังคม ครบทุกมิติตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โรงเรียนและสถานศึกษาในรูปแบบต่างๆ จึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างสุขภาพ และสุขภาพเป็นเงื่อนไขสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ ให้ประเทศไทยยังคงมีขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต

สำหรับเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนสู่ระบบสุขภาพสถานศึกษาที่ต้องการร่วมกันนั้นคือ ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาไม่ใช่แต่เฉพาะครู ผู้เรียน หรือผู้ปกครองและครอบครัวเท่านั้น แต่รวมถึงชุมชนโดยรอบ และภาคีที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งในและรอบ ๆ สถานศึกษา ตลอดจนภาคีที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพสถานศึกษา โดยในแต่ละสถานศึกษานั้น ก็จะมีบริบทที่แตกต่างกัน สามารถออกแบบธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาที่สอดคล้องกับสถานศึกษาได้ตามความเหมาะสม สิ่งสำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องพยายามอย่าละเลยหรือมองข้ามกลุ่มบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เกิดการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน เกิดการยอมรับในธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้การขับเคลื่อนระบบสุขภาพของสถานศึกษาเห็นความสำคัญกับเรื่องความเป็นธรรม และมีการดำเนินงานที่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายร่วมได้จริงตลอดจนมีความสอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติด้วย

นายแพทย์สุเทพ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า“ธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา จะเป็นกรอบนโยบายการพัฒนาสุขภาพตามบริบทและความต้องการของสถานศึกษานั้นๆ อย่างมีส่วนร่วม โดยเป็นข้อตกลงร่วมกันของภาคีที่เกี่ยวข้องที่กำหนดทิศทางหรือแนวปฏิบัติอันจะนำไปสู่สุขภาพที่ดีของสถานศึกษา เป็นเครื่องมือที่เพิ่มทางเลือกให้กับการพัฒนาระบบสุขภาพสถานศึกษา และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและการยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การปฏิบัติได้ โดยสามารถนำเอาธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติมาใช้เป็นกรอบหรือเป็นต้นแบบในการพัฒนา เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่นำไปสู่เป้าหมาย เรียนดี มีความสุข คุณภาพชีวิตดี ได้ในที่สุด”

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพสถานศึกษาด้วยการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่ จัดขึ้นในวันที่ 21-22 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมจาก สำนักงานศึกษาธิการภาค 1-18, สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร, สำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร, สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร, สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด 5 จังหวัด, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, ผู้บริหารหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 650 คน