กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา (ศอสพ) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการศึกษาวิจัย พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน พัฒนานโยบาย/มาตรการและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดำเนินงานด้านสุขภาพอนามัย พิษวิทยา และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร่วมกันส่งเสริมบทบาทประเทศไทยในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทยในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์ตามเป้าหมายของประเทศ และคุ้มครอง ดูแลประชาชน
วันที่ 15 สิงหาคม 2562 แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังร่วม พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยาระหว่างกรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา (ศอสพ) ณ ห้องเมจิก 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า กรมอนามัยร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา (ศอสพ) ภายใต้การนำของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้จัดทำโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านข้อมูลคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพอนามัยและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม (Air Quality Assessment for Health and Environment Policies in Thailand) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nation Environment Program: UNEP) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินสถานการณ์ และนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการจัดการคุณภาพอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานจัดทำและปรับปรุงมาตรการ / มาตรฐานด้านการจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทย โดยได้เชื่อมโยงกับข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย เศรษฐกิจ สังคมที่ทันสมัยเหมาะสม และถูกต้องตามหลักวิชาการ เตรียมการรับมือต่อสถานการณ์วิกฤติมลพิษอากาศในปี 2563
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลการประเมินอัตราการเจ็บป่วยด้วยสมการความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มข้นของมลพิษอากาศ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10 PM2.5) และ ก๊าซโอโซน (O3) ในพื้นที่ศึกษา 3 จังหวัด ได้แก่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ตลอดจนการศึกษาความสัมพันธ์ต่อจำนวนประชากร สามารถระบุได้ว่า ในแต่ละจังหวัดมีอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคที่ได้รับสัมผัสมลพิษอากาศแตกต่างกัน และมีความเสี่ยงตามช่วงอายุของประชากรที่แตกต่างกัน เช่น ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ควรได้รับการดูแลผลกระทบต่อมลพิษอากาศมากกว่าประชากรทั่วไป
“สำหรับสถานการณ์มลพิษทางอากาศในประเทศไทยปี 2561 ที่ผ่านมาพบว่า คุณภาพอากาศในภาพรวม มีแนวโน้มทรงตัว แต่ยังพบเกินมาตรฐานในสารมลพิษบางตัว โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10 PM2.5) ก๊าซโอโซน (O3) และก๊าซเบนซีน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่น เขตอุตสาหกรรม และพื้นที่ที่มีการเผาในที่โล่ง เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เขตควบคุมมลพิษหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี เขตควบคุมมลพิษ มาบตาพุด จังหวัดระยอง รวมถึงพื้นที่วิกฤตหมอกควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งต้องเตรียมการเฝ้าระวัง สื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน เพื่อลดปัญหาและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพดังกล่าวต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ