กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. คือ “ขับเคลื่อน อว. เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศโดยใช้ความรู้และนวัตกรรม เป็นกระทรวงความหวังและเป็นที่พึ่งของประชาชนในการพัฒนาเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาสำคัญ ทำให้คนไทยมีอนาคตที่ดี ”
การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต “Lifelong learning” ผ่าน “โครงการ Quick win : Up-Skill Re-Skill พัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของ อว.” เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ดำเนินงานโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สามารถเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ในสาขาที่ประเทศต้องการ ให้กับผู้ประกอบการ SMEs บุคลากรภาครัฐและเอกชนในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกว่า 1,100 คน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมและธุรกิจในพื้นที่ โดยผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วยทรัพยากรบุคคลในวัยทำงานและวัยหลังเกษียณ ซึ่งมีความพร้อมในการพัฒนาตนเอง เติมเต็มเป้าหมายส่วนบุคคล (Personal fulfillment) และพร้อมก้าวไปกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้เพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปสู่พื้นที่จังหวัดอุดรธานีและพื้นที่จังหวัดภาคตะออกเฉียงเหนือตอนบน วว. จึงได้มีความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในการทำงานเชิงบูรณการร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงาน ในการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) การบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ การบริการวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบ การตรวจประเมินเพื่อการรับรอง รวมถึงความร่วมมือในด้านวิชาการและการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนอย่างสูงสุด
โดยมีกิจกรรมนำร่อง ดังนี้
- Joint Labs จัดตั้ง ศูนย์รับวิเคราะห์ทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี เป็น Market arms เพื่อการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่ลูกค้า/ผู้สนใจ รวมถึงรับงานบริการเบื้องต้น (ถ้ามี) ให้กับ วว. อาทิเช่น งานวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ ตรวจสอบ รับรองสินค้าและบริการอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานสากล ครอบคลุมทั้งการวิจัยและพัฒนา ทดสอบบรรจุภัณฑ์เพื่อการขายปลีกและการขนส่ง ที่สามารถรองรับความต้องการของกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเป็นพื้นที่ของโอกาสเนื่องจากเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน
- Public Training วว. และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ร่วมมือกันในการพัฒนา ผู้ประกอบการ บุคลากรหน่วยงานในพื้นที่ ผ่านหลักสูตร Public Training ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานมีความเชี่ยวชาญสูง สู่การสร้างทักษะพัฒนาศักยภาพคน (New skill) อาทิเช่นหลักสูตรความรู้เบื้องต้นการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาจากผลงานวิจัยและพัฒนา (Intellectual Property : IP) เพื่อ Upskill ให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีและผู้ประกอบการที่สนใจ
- Up-skill & Re-skill ผ่านการอบรม 6 หลักสูตร (Quick win) เพื่อพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงของ อว. โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา บุคคลที่มีศักยภาพต้องการพัฒนาตนเอง เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญรองรับกำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ตอบโจทย์การลงทุนของภาคการผลิตและบริการ (UP-SKILL) ในการเสริมสร้างศักยภาพภาพ ยกระดับองค์ความรู้และทักษะ Upskill & Reskill ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการจัดอบรมฟรี จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรที่ 1 ความรู้เบื้องต้นระบบบริหารจัดการคุณภาพ ISO 9001 และระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ต่อการพัฒนาศักยภาพองค์กร หลักสูตรที่ 2 ทำอย่างไร ผลิตภัณฑ์จึงได้มาตรฐาน เพื่อขึ้นทะเบียน อย. และ มอก. หลักสูตรที่ 3 การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก (Packaging for SMEs) หลักสูตรที่ 4 ความรู้เบื้องต้นมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและกิจกรรมลานกางเต้นท์ หลักสูตรที่ 5 IoT Technology สำหรับเกษตรกรรม และ หลักสูตรที่ 6 ความรู้ด้านการออกแบบการสื่อสารการตลาดสำคัญอย่างไรสำหรับแบรนด์หรือสินค้า ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านการอบรม จะได้รับใบประกาศนียบัตรจาก วว.
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในระยะต่อไปว่า วว. จะร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี พัฒนาต่อยอดการดำเนินโครงการ Quick win ไปยังพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ด้วยโมเดลการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based) โดยใช้องค์ความรู้ วทน. เป็นกลไกขับเคลื่อน ซึ่ง วว. และเครือข่ายพันธมิตร ได้ดำเนินงานพัฒนาเชิงพื้นที่ครอบคลุมมากกว่า 60 จังหวัดของประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบของรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ ชุมชน ผู้ประกอบการ ที่ได้รับการยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถด้านวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการ มาตรฐาน และเครื่องจักร จากการดำเนินงานของ วว.และพันธมิตรสามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศได้มากกว่า 900 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานที่สำเร็จเป็นรูปธรรม พร้อมนำไปต่อยอดและขยายผลโครงการเป็นโมเดลต้นแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก วว. ติดต่อได้ที่ Call centerโทร. 0 2577 9000 www.tistr.or.th หรือที่ “วว. JUMP” https://tistrservices.tistr.or.th/