วันที่ 16 มีนาคม 2567 เวลา 17.00 น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และนางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช พร้อมคณะ อาทิ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ โฆษกกระทรวงฯ น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ น.ส.สกาวใจ พูนสวัสดิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ฯลฯ ร่วมงาน “เสียงชาติพันธุ์ ลือลั่นทั่วสยาม“ ที่จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม และเครือข่ายพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญของประเทศไทยที่จะมีกฎหมายชาติพันธุ์ จากการที่คณะรัฐมนตรีผ่านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่เสนอโดยกระทรวงวัฒนธรรม และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และผ่านวาระที่หนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว
นายเสริมศักดิ์ และนางระเบียบรัตน์ ยังได้ร่วมเต้นรำลีซูเปิดงาน ก่อนที่จะขึ้นเวทีกล่าวว่า หัวใจของกฎหมายฉบับนี้คือ การคุ้มครองและส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกัน เราจะไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และกฎหมายนี้จะประกาศใช้อีกไม่นาน และงานนี้ กระทรวงตั้งใจให้เป็นการเชื่อมผสานวัฒนธรรม ด้วยท่วงทํานองของดนตรี ที่อยากให้ทุกคนได้เห็น ได้สัมผัส และได้เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกัน ความแตกต่างไม่ใช่ความแปลกแยก เช่นเดียวกับสังคมไทยที่หลอมรวมผู้คน เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่งดงามและมีความหลากหลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมของชาติ
ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ติดภารกิจลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่งวิดีโอกล่าวเปิดงานมาเผยแพร่ในพิธีเปิดงาน โดยกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนพี่น้องชาติพันธุ์ทุกกลุ่มอย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยรัฐบาลได้อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ฉบับแรกของประเทศตามที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เสนอ เพื่อคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ส่งเสริมศักยภาพ และสร้างความเท่าเทียมอย่างเป็นธรรม เพื่อให้พี่น้องทุกกลุ่มชาติพันธุ์เข้าถึงสิทธิในฐานะพลเมืองไทยอย่างเสมอภาค
“ผมเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าของทุกกลุ่มวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย เเละให้ความสำคัญกับการนำทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา องค์ความรู้ต่าง ๆ มาต่อยอดในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ให้ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีรายได้ เเละมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นพลังสร้างสรรค์ เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศไทยร่วมกันอย่างยั่งยืน“
รูปแบบเป็นงานนิทรรศการดนตรีจากศิลปินชาติพันธุ์หลากหลายภูมิภาค ได้แก่ สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ, Nimman Street Orchestra ลีซู, คณะพรสวรรค์ ภูเก็ต, Yoov Muas ศิลปินป๊อบชาวม้ง, Good Mood และ Sri Popa-Jay Run 2 นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเรียนรู้และทดลองเล่นเครื่องดนตรีชาติพันธุ์ Eco Print มัดย้อมผ้าสีธรรมชาติ โกโก้เทสติ้ง เป็นต้น และมีการออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ ผ้าทอพื้นบ้าน โกโก้ กาแฟ ชา และน้ำผึ้ง เป็นต้น กิจกรรมมีตั้งแต่วันที่ 16 – 17 มีนาคมนี้ ที่ลานสยามสแควร์ Block i บริเวณซอย 7