กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การยูนิเซฟประเทศไทย เปิดตัวหนังสือ “แนวทางการจัดอาหาร บริบาลน้ำ และสร้างสุขภาวะที่ดีในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย” ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. 2562 วันที่ 14 สิงหาคม 2562 ณ สถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นายฮวน แซนแทนเดอร์ รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย แถลงข่าวแนวทางการจัดอาหาร บริบาลน้ำ และสร้างสุขภาวะที่ดีในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย”
ดร.สาธิต กล่าวว่า การพัฒนาคนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพต้องเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เพราะเป็นช่วงเวลาสร้างรากฐานแห่งการพัฒนาในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ภาษา จริยธรรม และความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งสมองยังมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในขวบปีแรก ซึ่งผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยในปี 2558–2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า 1 ใน 10 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น จากการขาดสารอาหารต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ส่งผลต่อการพัฒนาสมองและเป็นภาวะที่ไม่สามารถแก้ไขได้ นอกจากนี้ เด็กในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนมากและเด็กที่แม่ไม่มีการศึกษา มักมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลันมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น รวมทั้งยังพบว่า เด็กราว 1 ใน 10 มีภาวะอ้วน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มชุมชนกรุงเทพมหานครฯ
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับองค์การยูนิเซฟประเทศไทย จัดทำหนังสือแนวทางการจัดอาหาร บริบาลน้ำ และสร้างสุขภาวะที่ดีในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งไม่เพียงแต่จะใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมีเกร็ดความรู้เรื่อง การจัดสภาพแวดล้อม หลักการสุขาภิบาล การส่งเสริมสุขภาวะต่าง ๆ เช่น การดูแลฟัน การตรวจผม-เล็บ แนวทางการจัดกิจกรรมทางกายไม่ให้เนือยนิ่ง รวมไปถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่ครูและผู้ดูแลเด็กด้วย หลังจากที่คณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงสาธารณสุข ก.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก.มหาดไทย และก.ศึกษาธิการ ได้ร่วมกันจัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ผ่านมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 เพื่อนำไปใช้พัฒนาคุณภาพการให้บริการดูแลเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกสังกัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สำคัญในการสร้างพัฒนาการทุกด้านให้กับเด็กกลุ่มวัยนี้
ทางด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการจัดทำแนวทางการจัดอาหาร บริบาลน้ำ และสร้างสุขภาวะที่ดีในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟประเทศไทย และความร่วมมือจากสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาเด็กที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิง และแนวทางให้ครูและผู้ดูแลเด็กมีความรู้ ความเข้าใจ เห็นตัวอย่างที่ดีและไม่ดี ทราบถึงผลกระทบที่เป็นผลเสียต่อพัฒนาการเด็ก ตลอดจนแนะนำแนวทางการจัดสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้ตามที่มาตรฐานแห่งชาติระบุไว้
สำหรับกระบวนการพัฒนาแนวทางฉบับนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้พบปะพูดคุยปัญหาในการพัฒนาอาหาร ภาวะโภชนาการ และความต้องการของครู ผู้ดูแลเด็ก และผู้บริหารของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3 จังหวัด คือ เลย ขอนแก่น และปทุมธานี และผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ และปรับให้เข้ากับบริบทของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยของทุกกระทรวงให้มากที่สุด รวมทั้งจัดทำฉบับภาษาอังกฤษ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจากองค์การยูนิเซฟประจำภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคช่วยพิจารณา
ทางด้าน นายฮวน แซนแทนเดอร์ รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า ยูนิเซฟได้มีส่วนร่วม ในการพัฒนามาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกับกระทรวงหลักที่ดูแลเด็กปฐมวัย หนังสือที่เปิดตัวในวันนี้จะเป็นแนวทางให้กับผู้ทำงานด้านเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะครูและผู้ดูแลเด็กให้สามารถจัดอาหารที่มีคุณภาพ เพื่อเสริมสร้างให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง และช่วยแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการและการเจ็บป่วยในเด็กเล็กได้ เรื่องของการจัดอาหารและน้ำเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจจากที่เห็นในข่าวเกี่ยวกับคุณภาพอาหารกลางวันของเด็ก ดังนั้นหากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยมีความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ก็จะสามารถเตรียมอาหารให้ถูกกับหลักอนามัยและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ยังช่วยให้ครูสามารถให้คำปรึกษากับผู้ปกครองได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อลูกมีภาวะเตี้ยแคระแกร็นหรืออ้วนเกินเกณฑ์ เพราะภาวะโภชนาการขาดเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เด็กเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิต ในขณะที่ภาวะโภชนาการเกินก็ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร และมีแนวโน้มที่เด็กจะอ้วนต่อไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ รวมทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น เบาหวานและหลอดเลือดหัวใจ
“แนวทางการพัฒนาภาวะโภชนาการและสุขภาวะของเด็กนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการให้ความรู้แก่ครูเท่านั้น แต่ผู้บริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ชุมชน และพ่อแม่ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลโภชนาการของเด็ก แต่ละคนมีบทบาทที่ต่างกัน อีกทั้งภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญที่จะร่วมส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของเด็กให้เติบโตอย่างมีสุขภาพกาย ใจ และสติปัญญาที่สมบูรณ์ มีความสุข และสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี” รองผู้แทนองค์การยูนิเซฟประเทศไทยกล่าว
****************************** 14 สิงหาคม 2562