นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การเผาในพื้นที่เกษตร และปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่เกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ ว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ ระดมกำลังเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกร และประชาชน ให้ทราบถึงสาเหตุ และผลกระทบจากปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทั้งที่มาจากการเผาในพื้นที่เกษตร ปัญหาจากการก่อสร้าง ปัญหาจากควันรถยนต์ รวมถึงปัญหาจากฝุ่นควันที่พัดผ่านมาจากประเทศเพื่อนบ้าน กรมส่งเสริมการเกษตรมีความห่วงใยพี่น้องเกษตร และประชาชนถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง และทราบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่แม้จะรับทราบ เข้าใจถึงปัญหา และข้อดีของการไม่เผา รวมทั้งให้ความร่วมมือบริหารจัดการการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ตามแนวทางการส่งเสริมการเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตรแล้วก็ตาม แต่ยังมีเกษตรกรบางกลุ่มที่ยังคงไม่ปฏิบัติตาม จึงต้องขอความร่วมมือเกษตรกรทุกท่าน ช่วยกันสอดส่องดูแลพื้นที่รอบข้างตนเอง เพื่อร่วมกันสร้างอากาศที่ดีให้กับทุกคน
สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานในพื้นที่ ขับเคลื่อน รณรงค์แก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เกิดขึ้นจากภาคการเกษตรกันอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยผลสำรวจจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) เปรียบเทียบในห้วงเวลาเดียวกัน คือระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 13 มีนาคม ของปี 2566 และปี 2567 พบว่า จุดความร้อน (Hotspot) ลดลง จำนวน 1,037 จุด คิดเป็นร้อยละ 27 และค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ดีขึ้น คิดเป็นร้อยละ 48 โดยในส่วนของเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าว ลำไย และมะม่วง ในจังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณมากถึง 1,159,316.84 ตัน โดยเกษตรกรมีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – 11 มีนาคม 2567 คือ การนำไปเป็นพลังงานทดแทน มากถึง 450,152.11 ตัน อัดก้อนขาย 205,606.40 ตัน ไถกลบ 183,608.81 ตัน ปุ๋ยหมัก 134,395.59 ตัน ปล่อยย่อยสลายตามธรรมชาติ 80,499.29 ตัน และวิธีอื่น ๆ ซึ่งดำเนินการแล้ว 844,44 ตัน คิดเป็นร้อยละ 72.81 และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 315,273.27 ตัน คิดเป็นร้อยละ 27.19
สำหรับแนวทางการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เกษตรกรกรสามารถเลือกปฏิบัติตามความเหมาะสมของพื้นที่ และความสะดวกของเกษตรกรแต่ละราย เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ จาก 9 ทางเลือก ดังนี้ 1) การไถกลบทดแทนการเผา และเป็นการเพิ่มปุ๋ยให้ดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึง 261 บาท/ไร่ 2) การผลิตปุ๋ยหมัก ทำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษวัสดุ ใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย 6 บาท/กิโลกรัม 3) เลี้ยงสัตว์ นำมาทำอาหารหมัก เช่น ฟางข้าวหมัก ลดต้นทุนอาหารสัตว์ 3.83 บาท/กิโลกรัม 4) ทำวัสดุเพาะปลูก นำซังข้าวโพดหรือฟาง มาทำวัสดุเพาะปลูก ลดต้นทุน 3-10 บาท/กิโลกรัม 5) ผลิตพลังงานทดแทน ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งหรืออัดก้อน ขายได้ 20 บาท/กิโลกรัม 6) เพาะเห็ด สร้างอาหาร สร้างรายได้ ขายได้ 110 บาท/กิโลกรัม 7) ผลิตฟางอัดฟ่อน อัดฟางเป็นก้อน ขายได้ 30 บาท/ก้อน หรือ 750 บาท/ไร่ 8) ส่งโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่งจำหน่ายที่โรงไฟฟ้าชีวมวล ขายได้ 600-1700 บาท/ตัน และ 9) แปรรูปเพิ่มมูลค่า แปรรูปเป็นสินค้าชนิดอื่น เช่น กระถางต้นไม้ กระดาษฟางข้าว เป็นต้น
ทั้งนี้ การเผามีโทษความผิดทางกฎหมาย ผิดกฎหมายอาญา มาตรา 220 ผู้ใดทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท และผิด พรบ. การสาธารณสุข มาตรา 25 เหตุรำคาญการกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มาตรา 27 และ 28 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญ มาตรา 74 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามเจ้าพนักงานท้องถิ่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ