“ฝุ่น-หมอกควันภาคเหนือยังวิกฤต” รมช. ไชยา สั่งระดมเครื่องบินทำฝนหลวงและใช้เทคนิค “โปรยน้ำ-น้ำแข็งแห้ง ระบายฝุ่นในชั้นบรรยากาศผกผัน” 

วันที่ 15 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 น. ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ ณ ห้องประชุม
หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ พร้อมเปิดเผยว่า ตามที่สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือยังอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ถึงระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) จึงได้สั่งการให้ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงเชิงรุก
อย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ และวางแผนติดตามสภาพอากาศป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ต้องการน้ำสำหรับการเริ่มเพาะปลูก พร้อมให้การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในภารกิจดับไฟป่าบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ 
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง รวมจำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ แพร่ จันทบุรี กาญจนบุรี และสงขลา เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงและดัดแปรสภาพอากาศช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง การเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำ สร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่า รวมถึงบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 
โดยในพื้นที่ภาคเหนือ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ภายในสนามบินกองบิน 41 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และปรับแผนการปฏิบัติภารกิจ ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ ชนิด CN จำนวน 2 ลำ เครื่องบินขนาดกลาง ชนิด CASA จำนวน 3 ลำ เครื่องบินชนิด Super King Air จำนวน 1 ลำ ในภารกิจดัดแปรสภาพอากาศบรรเทาปัญหา
ฝุ่นละอองขนาดเล็ก บรรเทาปัญหาไฟป่า และบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีแผนการดำเนินงานและการปฏิบัติการ คือ

1. การปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อให้มีฝนตกในพื้นที่ที่ต้องการ เพื่อเร่งกระบวนการทางธรรมชาติให้เกิดเมฆ พัฒนาและรวมตัวเป็นเม็ดฝนขนาดใหญ่ตกลงมาเป็นน้ำฝน ช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง และบรรเทาปัญหาภัยแล้ง รวมถึงปฏิบัติการยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ โดยการยับยั้งการพัฒนาตัวของ
กลุ่มเมฆขนาดใหญ่ที่จะเกิดเป็นพายุลูกเห็บ ให้ตกลงมาเป็นน้ำฝน ลดความเสียหายแก่บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร

2. การปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศ ให้มีช่องในการเคลื่อนตัวของกระแสอากาศ ไหลขึ้นจาก
ชั้นอากาศที่ปิดกั้นอยู่ เพื่อเร่งกระบวนการทางธรรมชาติ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของกระแสอากาศ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ำและโปรยน้ำแข็งแห้ง” เพื่อเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองขึ้นต่อไปได้

และ 3. การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์บูรณาการร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 และจังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติภารกิจตักน้ำดับไฟป่าในพื้นที่ลาดสูงชัน ซึ่งเจ้าหน้าที่เดินเท้าเข้าไปไม่ถึง

นายสุพิศ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผลปฏิบัติการภารกิจบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ในพื้นที่ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 8 มกราคม – 11 มีนาคม 2567 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแพร่ ได้ปฏิบัติการฝนหลวง และใช้เทคนิคดัดแปรสภาพอากาศ จำนวน 51 วัน 148 เที่ยวบิน ช่วยเหลือ 15 จังหวัดภาคเหนือ ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการ อาทิ จ.เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน มีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ จากข้อมูลตรวจวัดฝุ่นละอองในอากาศโดยเครื่องบิน Super King Air การใช้เทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน สามารถช่วยระบายฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 3 ไมครอน ได้ประมาณ 40-50% เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ไม่ได้ปฏิบัติการ นอกจากนี้ ยังมีการปฏิบัติภารกิจตักน้ำดับ
ไฟป่าโดยเฮลิคอปเตอร์ ปฏิบัติการไปจำนวน 4 วัน 32 เที่ยวบิน ใช้ปริมาณน้ำจำนวนรวม 22,500 ลิตร รวมถึงเฝ้าระวังความรุนแรงของการเกิดพายุลูกเห็บ เพื่อช่วงชิงสภาพอากาศในการปฏิบัติการยับยั้งและบรรเทา
ความรุนแรงต่อไปอีกด้วย