กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติครั้งที่ 6 สุขภาพช่องปากดี ตลอดช่วงชีวิต พัฒนานวัตกรรมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการปรับพฤติกรรมการดูแลช่องปากด้วยตนเอง บูรณาการนวัตกรรมและเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ยกระดับความสามารถในการผลิตองค์ความรู้ด้านสุขภาพช่องปากทุกกลุ่มวัยเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพช่องปากที่ดี
วันที่ 14 สิงหาคม 2562 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธาน เปิดงานการประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติครั้งที่ 6 “สุขภาพช่องปากดี ตลอดช่วงชีวิต” “Towards Better Oral Health Throughout The Life Course” ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร ว่า จากผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมาของกรมอนามัยและภาคีเครือข่าย ทำให้แนวโน้มการสูญเสียฟันทั้งปากของผู้สูงอายุดีขึ้น ความต้องการใส่ฟันเทียมลดลงจากร้อยละ 5 เหลือประมาณร้อยละ 3 แต่ก็ยังมีผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปากอีกจำนวน 236,000 ราย ส่วนผู้สูงอายุที่มีฟันแท้เหลืออยู่ ก็ยังคงพบปัญหาโรคฟันผุและปริทันต์อักเสบที่นำไปสู่การสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งปัญหาแผลและมะเร็งช่องปาก ปัญหาน้ำลายแห้ง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ที่พบในผู้ป่วยโรคเรื้อรังทางร่างกาย ที่ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต ดังนั้น กรมอนามัยจึงได้จัดการประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ภายใต้แนวคิด สุขภาพช่องปากดี ตลอดช่วงชีวิต Towards Better Oral Health Throughout The Life Course เพื่อจัดทำแผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ให้เข้าถึงบริการ ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสภาพช่องปาก ตั้งแต่ วัยเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ ตลอดจนผลิตนวัตกรรม และพัฒนาบุคลากรให้สามารถดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอยู่ อย่างมีคุณค่า สามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคม และมีความสุขในบั้นปลายของชีวิต
ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า การดูแลสุขภาพช่องปากจึงต้องใส่ใจและให้ความสำคัญตั้งแต่ฟันซี่แรก เนื่องจากปัจจุบันวัยเด็กและวัยทำงาน เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก โดยในเด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 52.9 และเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 75.6 มีประสบการณ์ฟันน้ำนมผุส่วนเด็กวัยเรียนและเยาวชนอายุ 12 ปี และ 15 ปี พบว่าร้อยละ 52.0 และร้อยละ 62.7 มีประสบการณ์การเกิดโรคฟันแท้ผุ ส่วนกลุ่มวัยทำงานอายุ 35 – 44 ปี มีปัญหาสภาวะปริทันต์ที่พบการอักเสบของเหงือก มีเลือดออกง่ายร้อยละ 51.0 และปัญหาโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 43.3 ซึ่งในการแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันนั้น นอกจากทันตบุคลากร จะมีส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างมากแล้ว การดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองอย่างเหมาะสมและถูกต้องก็เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติเป็นประจำ ด้วยการแปรงฟันสูตร 2-2-2 คือ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตอนเช้าและก่อนนอน ควรแปรงฟันนานครั้งละ 2 นาทีขึ้นไป เพื่อให้มั่นใจว่าแปรงฟันได้สะอาดทั่วทั้งปากทุกซี่และทุกด้าน ให้งดกินอาหารหลังแปรงฟันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อให้ช่องปากสะอาดได้นานที่สุด รวมถึงลดการเกิดจุลินทรีย์และกรดในช่องปาก นอกจากนี้ควรใช้ไหมขัดฟันทุกวันอย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อให้สุขภาพช่องปากและฟันดีแบบครบสูตร
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ